โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 92, 295, 364, 365, 391 เพิ่มโทษจำเลยที่ 5 หนึ่งในสาม และริบท่อนไม้กับแผ่นไม้ของกลาง
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งเก้าขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง และจำเลยที่ 5 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ระหว่างพิจารณา นางรุ่งทิวา ผู้เสียหายที่ 1 นายฉัตรชัย ผู้เสียหายที่ 2 นายนพดล ผู้เสียหายที่ 3 และนายวราวุฒิ ผู้เสียหายที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหา (ร่วมกัน) บุกรุกเคหสถานโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหา (ร่วมกัน) ทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหา (ร่วมกัน) ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และโจทก์ร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสี่เพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายและได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นเงิน 600,000 บาท ต่อมาโจทก์ร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสี่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเก้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 365 (2) ประกอบมาตรา 362 (ที่ถูก มาตรา 364), 391 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งเก้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 25,000 บาท เว้นจำเลยที่ 5 ไม่วางโทษปรับ เพิ่มโทษจำเลยที่ 5 หนึ่งในสาม (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92) เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งเก้าให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 9 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 12,500 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 8 เดือน ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 9 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า โทษจำคุกไม่เกินหกเดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) หมายถึง โทษจำคุกสุทธิก่อนบวกโทษหรือโทษสุทธิหลังจากบวกโทษแล้ว โดยจำเลยที่ 5 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 5 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่คดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษนั้น ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 5 เพียง 6 เดือน และบวกโทษจำคุกคดีละ 4 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1405/2558 และ 1855/2558 ของศาลชั้นต้น รวมจำคุก 14 เดือน เป็นกรณีที่โทษจำคุกในคดีดังกล่าวมีอัตราโทษไม่เกิน 6 เดือน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จำเลยที่ 5 จะได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น... (2) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน..."ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้..." จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า แม้จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่ถ้าโทษตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นการลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนก็ยังอยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยได้ ทั้งนี้การพิจารณาหลักเกณฑ์การรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) ต้องพิจารณาโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำในคดีนั้น ๆ ว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกเกินหกเดือนหรือไม่ ซึ่งหมายถึงโทษจำคุกสุทธิก่อนบวกโทษที่รอการลงโทษในคดีอื่นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อคดีก่อนศาลลงโทษจำเลยที่ 5 ให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน จึงอยู่ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ประการต่อไปว่า มีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 กับพวกบุกรุกเข้าไปภายในบริเวณบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่มีเหตุอันสมควรและโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป แล้วใช้กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 กับพวกได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสี่จนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแล้ว โจทก์ร่วมจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อันเป็นการแสดงว่า จำเลยที่ 5 รู้สำนึกในความผิดแห่งตน จึงเห็นสมควรปรานีจำเลยที่ 5 เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุก แต่เพื่อให้จำเลยที่ 5 หลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฟื้นฟู สมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่ง โดยไม่เพิ่มโทษจำคุกและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยที่ 5 ไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 5 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 5 ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 5 มากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 25,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษจำเลยที่ 5 ให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 12,500 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 5 ให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 5 ไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 5 ฟัง ให้จำเลยที่ 5 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และให้จำเลยที่ 5 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 5 เห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอให้เพิ่มโทษจำคุกให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7