โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยในฐานะผู้จ่ายเงินและรับรองตั๋วแลกเงินผิดนัดไม่ยอมชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน ผู้สั่งจ่ายได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดตามเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วผู้ดำเนินการแทนผู้สั่งจ่ายจึงสลักหลังตั๋วแลกเงินให้โจทก์จัดการแทน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยชอบ ขอให้จำเลยชำะรเงินตามตั๋วแลกเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมคำแปลเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ตั๋วแลกเงินตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับรองตั๋วแลกเงินโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,545.776 บาท 77 สตางค์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,910,785 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นมากกว่านี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์จัดการแทนใครและโจทก์บรรยายฟ้องขัดกันเองว่า "ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด ได้สลักหลังให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ดำเนินการแทน ต่อมาโจทก์แก่ฟ้องเป็นว่า"บริษัทโคโมรี่ (ที่ถุฏคือบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชชีนเนอรี่จำกัด) ได้มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการแทน "การที่ฟ้องโจทก์ขัดกันเองเช่นนี้ จำเลยจึงไม่ทราบแน่ชัดว่าโจทก์จัดการแทนธนาคารโฮกุริกุจำกัด หรือธนาคารกรุงเทพ จำกัด หรือบริษัทโคโมรี่ ซึ่งจำเลยอาจมีข้อต่อสู้กับบุคคลดังกล่าวอยู่และตามคำแปลเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ก็ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ จำ่กัด ได้สลักหลังให้โจทก์จัดการแทนธนาคารกรุงเทพ จำ่กัด ซึ่งชัดแย้งกับฟ้องโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ได้รับมอบหมายจากบริษัทโคโมรี่ต่อมาในชั้นสืบพยานนายสุวิทย์ สุวรรณ พยานโจทก์ก็เบิกความว่า "ข้อความด้านหลังตั๋วแลกเงินที่ว่า โจทก์จัดการแทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไม่ถูกต้องแท้จริงโจทก์จัดการแทนบริษัทโคโมรี่" พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทกืบรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชีนเนอรี่จำกัด ได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยจ่ายเงิน 48,400,000 เยนญี่ปุ่นและให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวตามตั๋วแลกเงินแก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัดซึ่งเป็นธนาคารตัวแทนของบริษัทนั้นและเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินธนาคารดังกล่าวได้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดดำเนินการแทน ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้จัดการให้จำเลยรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดจำเลยผิดนัดไม่ยอมชำระเงินแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด บริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้งแมชีนเนอรี่ จำ่กัด จึงได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ติดตามเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จึงสลักหลังตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ในฐานะจัดการแทนดังนี้ การสลักหลังของธนาคารกรุงเทพ จำกัด จึงเป็นการสลักหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์ผู้รับสลักหลังจึงเป็นตัวแทนของบริษัทโคโมรี่ พริ้นติ้ง แมชีนเนอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นตัวการฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนการสลักหลังนั้นเมื่อดูตามด้านหลังตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.3 เป็นเรื่องธนาคารกรุงเทพ จำกัดสลักหลังว่า "จ่ายตามคำสั่งของนายสุวิทย์ สุวรรณ ในฐานะจัดการแทน"เท่านั้นมิได้มีความหมายตามที่จำเลยอ้างในฎีกาและที่นายสุวิทย์โจทก์เบิกความว่าโจทก์จัดการแทนบริษัทโคโมรี่ ฯ นั้นก็ตรงตามข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งมิไ้ขัดต่อเอกสารตั๋วแลกเงินรายพิพาทแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาเป็นข้อที่สองว่า ตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยกล่าวอ้างเป็นข้อแรกว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งของผู้สั่งจ่ายสั่งให้จำเลยจ่ายเงินแก่ผู้รับเงินข้อความที่ว่า "ในวันที่ 120 นับจากวันที่ลงในใบตราส่งของตั๋วแลกเงินฉบับแรกของตั๋วแลกเงินสำรับนี้จ่ายให้แก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัดหรือตามคำสั่งจำนวนเงินสี่สิบแปดล้านสี่แสนเยนญี่ปุ่นเท่านั้น"ไม่ใช่คำสั่งของผู้สั่งจ่ายสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงิน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความว่าตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่มีข้อความสั่งให้จำเลยจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินและนายบรรยง โตเต็มโชคชัยการ พยานโจทก์ก็เบิกความว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่มีข้อความว่าใครจ่ายใครไม่ใช่ตั๋วเงิน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทระบุชัดแจ้งว่าธนาคารโฮกุริกุ จำกัด เป็นผู้รับเงิน ปรากฎตามข้อความที่ระบุว่า "จ่ายให้แก่ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด หรือตามคำสั่งจำนวนเงินสี่สิบแปดล้านสี่แสนเยนญี่ปุ่นเท่านั้น" สำหรับจำเลยนั้นนอกจากมีชื่อบริษัทจำเลยแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีตราบริษัทและลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยอีกแห่งหนึ่งด้วยอันหมายความถึงการรับรองตั๋วแลกเงินจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จ่าย รายการในตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 909(3) ก็ระบุเพียงว่า"ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย" เท่านั้น จะถือว่าต้องมีข้อความระบุว่า"ผู้จ่าย" ด้วยดังที่จำเลยฎีกาย่อมไม่ได้ สำหรับบริษัทโคโมรี่พริ้นติ้ง แมชีนเนอรี่ จำกัดนั้น ปรากฏว่าในตั๋วแลกเงินมีระบุชื่อบริษัทดังกล่าวและลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการด้วย จึงต้องถือว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้สั่งจ่าย และไม่จำต้องมีข้อความเขียนว่า"ผู้สั่งจ่าย" ด้วย เพราะมาตรา 909(8) ไม่ได้บังคับไว้ ทั้งการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 937 ย่อมแสดงว่าจำเลยทราบดีว่าจำเลยเอง บริษัท โคโมรี่ฯและธนาคาร โฮกุริกุ จำกัด อยู่ในฐานะใดในตั๋วแลกเงิน สำหรับคำเบิกความของโจทก์และนายบรรยงพยานโจทก์นั้น เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากดังกล่าวโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่าได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าตั๋วแลกเงินรายพิพาทระบุรายการครบถ้วนตามกฎหมายแล้วว่าผู้ใดเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้จ่ายและผู้รับเงิน จำเลยอ้างเป็นข้อที่สองว่าตั๋วแลกเงินระบุว่า "ในวันที่ 120 วัน นับจากวันที่ลงในใบตราส่งของตั๋วแลกเงินฉบับแรกของตั๋วแลกเงินสำรับนี้ฯลฯ" โจทก์จะนำสืบว่ากำหนดเวลา 120 วันนับแต่วันที่ลงในใบตราส่งสินค้าไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห้นว่าคำว่าใบตราส่งย่อมหมายถึงใบตราส่งสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 613 เท่านั้นเพราะใบตราส่งตั๋วแลกเงินไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยอ้างเป็นข้อที่สามว่าบริษัท โคโมรี่ฯ เป็นทั้งผู้สั่งจ่ายและผู้รับเงินในตั๋วแลกเงินจึงทำให้ตั๋วแลกเงินรายพิพาทไม่มีสภาพเป็นตั๋วแลกเงินตามกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัท โคโมรี่ ฯมีฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายแต่อย่างเดียว ส่วนผู้รับเงินคือ ธนาคารโฮกุริกุ จำกัด ผู้ทรงตั๋วแลกเงินดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินรายพิพาทในฐานะจัดการแทนธนาคารกรุงเทพ จำกัดมิใช่ผู้ทรงตั๋วแลกเงินเพื่อเรียกเก็บในนามของโจทก์ของ โจทก์จึงต้องมีใบมอบอำนาจของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มอบหมายให้ฟ้องคดีและโจทก์จะฟ้องคดีในนามตนเองไม่ได้ จะต้องฟ้องในนามธนาคารกรุงเทพจำกัด หรือ บริษัท โคโมรี่ ฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าธนาคาร โฮกุริกุ จำกัด ผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินรายพิพาทซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินได้สลักหลังให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดจัดการแทน และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้สลักหลังต่อไปยังโจทก์ในฐานะจัดการแทน โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินและจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นย่อมได้ทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 925 โจทก์จึงมีสิทธิติดตามทวงถามเงินตามตั๋วแลกเงินและฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง..."
พิพากษายืน.