โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(14), 43(4), 157, 162และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
ระหว่างพิจารณา ภริยาของผู้ตายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 309 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(14),43(4), 157, 162 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปีให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย ที่จำเลยขอให้รอการลงโทษโดยอ้างว่าไม่เคยต้องโทษและมีคุณงามความดีมาก่อนนั้น เห็นว่าจำเลยยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเลยจึงไม่รอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ และขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการลงโทษจำคุกจำเลยเหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามสภาพความผิดของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรงอันเป็นภัยต่อสาธารณชนอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้พันเอกเพิ่มศักดิ์ถึงแก่ความตาย สิบตำรวจโทสุทัศน์ได้รับอันตรายแก่กาย รถยนต์หมายเลขทะเบียน 1จ-1367 กรุงเทพมหานคร และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พิจิตร ก.-2161 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้นำเงิน 100,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ทั้งปรากฏจากคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของจำเลยว่าจำเลยเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 4 โดยได้รับราชการและเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมาเป็นเวลารวม 15 ปี กับมีหนังสือรับรองของบุคคลที่เคยรู้จักกับจำเลยรับรองว่าจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยได้รับโทษจำคุกอันแสดงว่าจำเลยมีคุณงามความดีมาแต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกเช่นนั้น จึงเหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์โดยเพิ่มโทษจำเลยขึ้นอีก ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.