โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 913,630.89 บาท ให้ชำระค่าขาดประโยชน์ 80,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จสิ้น ให้ชำระดอกเบี้ยพักชำระหนี้ 14,880.09 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,008,510.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 758,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 64,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มิถุนายน 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแทนกับดอกเบี้ยในระหว่างพักชำระหนี้ 14,880.09 บาท และชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแทน แต่กำหนดให้ไม่เกิน 10 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของราคาใช้แทนจำนวน 758,000 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (วันที่ 11 ตุลาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินค่าขาดประโยชน์ 64,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 มิถุนายน 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแทน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยทั้งสองส่วนให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าไปจากโจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ติดต่อกันไปรวม 60 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาโจทก์พักชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่จำเลยที่ 1 และให้เริ่มชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่พักชำระหนี้เป็นเงิน 14,880.09 บาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมาเกิน 3 งวดติด ๆ กัน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือหากเพิกเฉยให้ถือเอาหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่ขออนุญาตฎีกาและฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 13 เมษายน 2563 ไปยังจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2563 รวม 6 งวด จำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดดังกล่าวในงวดเดือนสิงหาคม 2563 ถึงงวดเดือนธันวาคม 2567 แทน ทั้งนี้จำนวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระยังมีจำนวนเท่าเดิม โดยค่าเช่าซื้องวดเดือนสุดท้ายต้องชำระวันที่ 15 ธันวาคม 2567 และโจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่พักชำระหนี้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ประสงค์รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของโจทก์ ตามที่ระบุในหนังสือฉบับดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 สามารถแจ้งยกเลิกทางโทรศัพท์หมายเลขที่ระบุไว้ภายในวันที่ 27 เมษายน 2563 แต่ได้ความจากที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 หยุดพักชำระและกลับมาชำระค่าเช่าซื้อต่อถึงงวดที่ 9 ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563 จากนั้นจึงผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นั้น เมื่อการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 6 งวด ดังกล่าวเป็นผลให้กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่กำหนดไว้ในตารางแสดงภาระหนี้แนบท้ายสัญญาเช่าซื้อเลื่อนออกไปจากวันที่ 15 มิถุนายน 2567 เป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2567 พฤติการณ์ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีนายวิชาธร ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เป็นพยานเบิกความถึงเหตุที่ให้จำเลยที่ 1 พักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 9 ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยอ้างส่งสำเนาหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(23) ว. 276/2563 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และสำเนาหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(01) ว. 380/2563 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่องมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID – 19 เป็นพยานสนับสนุนข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง แต่หนังสือที่ ธปท.ฝนส.(01) ว. 380/2563 ข้อ 2 (3) ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่ ธปท. กำหนดนี้เป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะเร่งด่วนซึ่งไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา อันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำได้ แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไป ขอให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน ข้อ 2 (3) นี้ มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรการที่กำหนดนี้ อย่างไรเสียก็จะต้องดำเนินการภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 11 ค้ำประกัน ส่วนที่ฎีกาว่าโจทก์จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งหมวด 2 การชะลอการชำระหนี้ มาตรา 15 บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทหรือลูกหนี้อื่นได้ การชะลอการชำระหนี้มิให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้และคำว่า "ลูกหนี้อื่น" ตามมาตรา 15 ต้องหมายความว่าลูกหนี้สินเชื่อประเภทใด ๆ ก็ได้นั้น พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการการให้ความช่วยเหลือ และโจทก์มีหนังสือพักชำระหนี้แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าที่โจทก์พักชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว และพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ และมาตรา 3 ในพระราชกำหนดให้ความหมายของคำว่า "ผู้ประกอบวิสาหกิจ" หมายความว่า ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" หมายความว่า วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกินห้าร้อยล้านบาทและไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามความหมายที่กำหนดในพระราชกำหนดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ลูกหนี้รายจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ตกลงด้วยในการผ่อนเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะแต่ในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคต แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาตามทุนทรัพย์และค่าขึ้นศาลอนาคตมาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แต่ละชั้นศาลแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ