โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 553,645.47 บาท ดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ 17,030.22 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือน เป็นเงิน 45,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 598,645.47 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 351,873 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 สิงหาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน เฉพาะค่าขาดประโยชน์ให้ชำระ 8,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 351,873 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (พิพากษาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์อุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 สิงหาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์อุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยระหว่างพักชำระหนี้ 17,030.22 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 691,290.47 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน รวม 72 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มกราคม 2562 และงวดต่อไปทุกวันที่ 1ของทุกเดือน งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 12 งวดละ 7,275 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดที่ 13 ถึงงวดที่ 71 งวดละ 10,069 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) งวดที่ 72 ชำระ 9,919.47 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาค้ำประกัน หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 17 งวด เป็นเงิน 137,645บาท โจทก์พักชำระหนี้ให้ 6 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยระหว่างพักชำระหนี้อัตราร้อยละ 9.18 ต่อปี เป็นเงิน 17,030.22 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 18 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2563 สามงวดติดต่อกันเป็นต้นมา โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาภายใน 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ตามหนังสือ เรื่อง ให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบไปรษณีย์ตอบรับในประเทศ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้อันมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งผลการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนกันยายน 2563 รวม 6 งวด แล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2563 ถึงงวดเดือนมิถุนายน 2568 แทน นั้น แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนงวดที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1 ยังต้องชำระค่าเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 72 งวด แต่ก็เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนกันยายน 2563 โดยไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด ซึ่งในระหว่างนี้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อได้ ทั้งค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่เดิมถึงกำหนดชำระเดือนธันวาคม 2567 ยังถูกขยายระยะเวลาไปอีก 6 เดือน เป็นเดือนมิถุนายน 2568 การพักชำระหนี้ที่เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีลักษณะเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระผูกพันตามสัญญายาวนานขึ้นจากที่ระบุในสัญญา ทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งไปยังสถาบันการเงิน ไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งการที่บังคับให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ หากแต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในข้อนี้ การจะพักชำระหนี้ตามมาตรการดังกล่าวหรือไม่จึงยังต้องคำนึงถึงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนท้ายของหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 แสดงความไม่ประสงค์ให้โจทก์ทราบภายในกำหนดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามสำเนาหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 ข้อ 2 (3) ยังกล่าวชัดเจนว่าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามมาตรการนี้ สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไปก็ขอให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน อันเป็นการย้ำให้เห็นว่าการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงให้ชะลอการผิดนัดของลูกหนี้ในระหว่างสัญญาเท่านั้น ดังนั้น หากโจทก์จะให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ ด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นอันเป็นการผ่อนเวลาออกไปในส่วนของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันนั้นก็ต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ต้องให้จำเลยที่ 2 ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น การที่โจทก์เพียงมีหนังสือแจ้งผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงยินยอมในการขยายระยะเวลาชำระหนี้ด้วย จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ