โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 86, 91, 92, 276, 277 ตรี พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี, 116 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 58, 91 ริบของกลางทั้งหมด บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ อย.4683/2558 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ กับจำเลยที่ 4 รับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษแล้วตามฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาว ถ. มารดาของนางสาว ก. ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตเฉพาะความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายและเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว)
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 400,000 บาท ค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางในการติดตามคดี 20,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 10,000 บาท เป็นระยะเวลา 37 ปี รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท และค่าทนทุกข์ทรมานต่อจิตใจทำให้โจทก์ร่วมเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยทั้งห้าให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม), 277 ตรี (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 92, 141 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และมาตรา 58, 91 อีกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ฐานเสพโคคาอีน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพฐานเสพคีตามีน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเสพโคคาอีน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 3 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานอื่นมาเรียงกระทงลงโทษและบวกโทษได้อีก คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลางทั้งหมด ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 5
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 92, 141 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และมาตรา 58, 91 อีกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ให้จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานเสพคีตามีน จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานเสพโคคาอีน จำคุก 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ให้เพิ่มโทษอีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 สำหรับความผิดฐานเสพคีตามีน เป็นจำคุก 8 เดือน แต่สำหรับความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น เมื่อศาลวางโทษจำคุกในความผิดฐานนี้ไว้ตลอดชีวิตจึงไม่อาจเพิ่มโทษได้ เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานเสพคีตามีน และจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและเสพโคคาอีนให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 3 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน และจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 เดือน ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เมื่อลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน รวมเป็นโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำคุกคนละ 33 ปี 7 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 33 ปี 13 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 33 ปี 8 เดือน โดยให้นำโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ของจำเลยที่ 2 ที่รอไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ อย.4683/2558 ของศาลชั้นต้นรวมเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ รวมเป็นโทษจำคุก 33 ปี 14 เดือน 15 วัน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตรี (2) ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) และจำเลยที่ 2 เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) กับยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคคาอีน) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันคบคิดวางแผนข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ก. ผู้ตาย ด้วยการแอบใส่ 3,4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) ในเบียร์ที่ผู้ตายดื่ม ให้ผู้ตายสูดดมคีตามีน (ยาเค) และให้ผู้ตายอมไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้น จากนั้นเวลา 5 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พาผู้ตายไปยังโรงแรมเสนาเพลส ห้องพักเลขที่ 1216 ที่เกิดเหตุ ให้ผู้ตายอมไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) อีก 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้น แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา มาผู้พบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ แพทย์ตรวจพบสารเสพติด 3,4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) เฮโรอีน คีตามีน (ยาเค) ไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) และยาแก้ไออยู่ในร่างกายของผู้ตาย กับระบุสาเหตุการตายว่า เนื่องจากระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) จำเลยที่ 2 ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) กับฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคคาอีน) ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยุติไปเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตรี (2) เป็นความผิดที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม) ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม เช่นนี้ ผลของการกระทำความผิดนั้นซึ่งได้แก่ความตายของผู้ถูกกระทำจึงต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 สำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) มีการกระทำของผู้กระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดคือ ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ถ้ามีเพียงกระทำชำเราอย่างเดียว โดยไม่มีการกระทำที่เป็นการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ การใช้กำลังประทุษร้าย การทำให้ผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือการทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นร่วมด้วย ย่อมขาดองค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันให้ผู้ตายเสพ 3,4 - เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (ยาอี) คีตามีน (ยาเค) และไนเมตาซีแพม (ยาไฟว์) เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ผู้ตายมึนเมาเคลิบเคลิ้มหรือประสาทหลอนจนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนต่อการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ ย่อมเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) และเป็นการกระทำที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายนั่นเอง ไม่อาจที่จะแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนได้เลย แม้การข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นหรือการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามปกติไม่ทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ก็เป็นเพราะการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ การใช้กำลังประทุษร้าย การทำให้ผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แล้วข่มขืนกระทำชำเรา มิได้กระทำด้วยความรุนแรงจนเกินสมควร หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่อาจทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายได้เลยแต่อย่างใด ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจนเกินขนาด แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่สภาพร่างกายของผู้ตายอ่อนแออย่างมากจากพิษของสารเสพติด ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ตายทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายและการข่มขืนกระทำชำเราด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายของผู้ตายจะสามารถทนทานได้ เมื่อต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องถือว่าความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ดังกล่าว เพราะหากไม่มีการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วยการนำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายเกินขนาดและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายไปด้วยในขณะนั้น เป็นต้นว่านำสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายของผู้ตายในปริมาณเล็กน้อยเพียงแค่พอให้ผู้ตายไม่สามารถขัดขืนการข่มขืนกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ไม่มากจนเกินขนาด ความตายของผู้ตายย่อมจะไม่เกิดขึ้น ที่แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า เนื่องจากระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เป็นเพียงผลการตรวจพบพยาธิสภาพภายในของผู้ตายและเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานแห่งการตายของผู้ตาย แต่ผลของความตายแท้จริงเกิดจากสิ่งใดศาลย่อมต้องพินิจตริตรองตามบทบัญญัติของกฎหมายและการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ตายดังวินิจฉัยมาประกอบเข้าด้วยกัน มิใช่ดูเพียงพยาธิสภาพภายในของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตรี (2) อีกบทหนึ่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มาเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งปัจจุบันเป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีจึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามมาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ชำระหนี้เสร็จ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม (เดิม), 277 ตรี (2) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อโทษสุทธิเป็นจำคุกตลอดชีวิต จึงไม่สามารถเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 หรือบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน หรือเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์