โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย นายวิศาล ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1361 เนื้อที่ประมาณ 380 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 11 กับจำเลยที่ 2 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 17 ปี 6 เดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2572 ค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าไปให้บุคคลอื่น ตลอดจนให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2557 โจทก์ทำสัญญาเช่าช่วงพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ค. มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ทำสัญญาเช่าช่วงพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน อ. มีกำหนดระยะเวลา 36 เดือน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 กับจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการบาร์เบียร์และจำหน่ายเครื่องดื่มต่าง ๆ อัตราค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ต่อร้าน แต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าช่วงทั้งสองร้าน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหนังสือสัญญาเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดินกันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 เป็นต้นไป และได้จดทะเบียนเลิกการเช่ากันวันที่ 8 กันยายน 2558 โดยมีข้อตกลงระบุไว้ในหนังสือสัญญาเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน ข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงและยอมรับภาระผูกพันของบาร์เบียร์รายย่อยที่มีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าช่วงอยู่กับจำเลยที่ 1 ไปจนกว่าจะครบสัญญาเช่า ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2558 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1361 เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เคยให้จำเลยที่ 1 เช่าดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2573 ค่าเช่าอัตราเดือนละ 100,000 บาท และจดทะเบียนการเช่ากันในวันดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 มีอำนาจขออนุญาตดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ก่อสร้างอาคารในพื้นที่ของโฉนดเลขที่ 1361 รวมทั้งอนุญาตให้รื้อถอนบาร์เบียร์ทั้งหมด ประมาณต้นเดือนกันยายน 2558 จำเลยที่ 3 กับพวกขับไล่โจทก์และรื้อถอนร้าน ค. และร้าน อ. ที่โจทก์เช่าช่วงจากจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2559 จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนที่จำเลยที่ 3 เช่า ให้แก่นายวิทิต และนายวิทิตจดทะเบียนให้นางสาวมนชยา และนางสาวมนรดา มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วม วันที่ 1 กันยายน 2559 ผู้มีชื่อทั้งสามคนดังกล่าวได้จดทะเบียนเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 พร้อมกับจดทะเบียนการเช่าให้บริษัท ค. เช่านับแต่วันดังกล่าว สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าช่วงต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีกำหนดระยะเวลา 17 ปี 6 เดือน โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าช่วงทั้งหมดหรือบางส่วนได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 อีก ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าช่วงพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นที่ตั้งร้าน ค. และร้าน อ. กับจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่า เป็นการเช่าช่วงโดยชอบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงทำหนังสือเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดินต่อกันก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าช่วงทั้งสองร้าน เมื่อสัญญาเช่าเดิมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับลงย่อมส่งผลให้สัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับลงด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าช่วงเพื่อประกอบกิจการร้านบาร์เบียร์ต่อไปได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำผิดสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ผู้เช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าเดิมนั้น กฎหมายคงบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 545 ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าสัญญาผูกพันเฉพาะคู่สัญญา ไม่อาจบังคับเอากับบุคคลภายนอกได้ แต่ไม่อาจตีความบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวในทางกลับกันให้ผู้เช่าช่วงสามารถเรียกร้องสิทธิและหน้าที่เอาจากผู้ให้เช่าเดิมได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะพึงมีต่อกันในอันที่จะให้อำนาจแก่ผู้เช่าช่วงฟ้องบังคับเอากับผู้ให้เช่าเดิมเพื่อให้รับผิดต่อผู้เช่าช่วงได้โดยตรง แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ในการเลิกสัญญาเช่าต่อกันตามข้อ 3 ของหนังสือสัญญาเลิกการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน ว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับภาระผูกพันของบาร์เบียร์รายย่อยที่มีภาระผูกพันตามสัญญาเช่าอยู่กับจำเลยที่ 1 ไปจนกว่าจะครบกำหนดสัญญาเช่าช่วง อันเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีสิทธิจะถือเอาประโยชน์ตามข้อสัญญาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำขึ้นดังกล่าวมิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าประเด็นในเรื่องค่าเสียหายในมูลละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และไม่หยิบยกปัญหาเรื่องค่าเสียหายขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายในการกระทำละเมิดแก่โจทก์ โดยในส่วนค่าเสียหายนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจครอบครองทำประโยชน์และประกอบกิจการในพื้นที่เช่า โดยโจทก์มีระยะเวลาการเช่าเหลืออยู่ตามสัญญาเช่าช่วงที่ตั้งร้าน ค. 2 เดือน 20 วัน และร้าน อ. 30 เดือน 20 วัน กิจการร้านบาร์เบียร์ทั้งสองร้านมีรายได้ไม่ต่ำกว่าร้านละ 100,000 บาท ต่อเดือน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากกิจการร้าน ค. คิดเป็นเงิน 266,666 บาท และร้าน อ. คิดเป็นเงิน 3,066,666 บาท และโจทก์ลงทุนตกแต่งประดับร้านทั้งสองไปเป็นเงินจำนวนมาก หากโจทก์นำร้านทั้งสองออกขายสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่น โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ 5,333,332 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง 3,000,000 บาท ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ต่อโจทก์ก็เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถครอบครองทำประโยชน์ใช้พื้นที่ที่เช่าทำกิจการบาร์เบียร์ในระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่เช่นกัน ค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นเงินไม่น้อยกว่าค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ได้รับดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยในส่วนค่าขายสิทธิการเช่าว่าสัญญาเช่าช่วงไม่เปิดช่องให้โจทก์กระทำได้และไม่กำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยต่อมาว่า โจทก์ขอคิดค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,000,000 บาท จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเป็นผลจากการผิดสัญญาและการกระทำละเมิดที่จำเลยทั้งสามต้องชดใช้แก่โจทก์รวมกันมา มิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายในการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เพียงอย่างเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ประเด็นในเรื่องค่าเสียหายในมูลละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่หยิบยกปัญหาเรื่องดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายในการผิดสัญญาและการกระทำละเมิดนี้ในข้อนี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานสอดคล้องกับบัญชีรายรับรายจ่ายของบาร์เบียร์ทั้งสองร้าน ยืนยันถึงรายรับรายจ่ายของกิจการและค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในการใช้พื้นที่ประกอบกิจการบาร์เบียร์ทั้งสองร้านที่เช่าช่วงในกำหนดระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่คิดเป็นเงินรวม 3,333,332 บาท จำเลยทั้งสามก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมจ่ายค่าเลิกสัญญาเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวนมากถึง 80,000,000 บาท และเมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ให้จำเลยที่ 1 เช่าดังกล่าวออกให้จำเลยที่ 3 เช่าในเวลาไล่เลี่ยกับที่เลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 ก็ได้ค่าตอบแทนการเช่าจากจำเลยที่ 3 จำนวนถึง 162,000,000 บาท แสดงว่าที่ตั้งของที่ดินอยู่ในทำเลการค้าที่เจริญ น่าเชื่อว่าหากโจทก์ได้ทำกิจการบาร์เบียร์ทั้งสองร้านไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่าช่วงจะได้เงินไม่น้อยกว่าจำนวน 3,333,332 บาท ตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง ซึ่งความเสียหายของโจทก์เนื่องจากการผิดสัญญาเช่าช่วงของจำเลยที่ 1 และการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ล้วนส่งผลให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เช่าและต้องถูกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป อันเป็นความเสียหายที่มีผลสืบเนื่องเกี่ยวพันกันและความร้ายแรงของการกระทำไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อโจทก์ขอค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามรวมกันเป็นเงิน 3,000,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้แก่โจทก์มานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ" จึงมีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ ต้องปรับเปลี่ยนเป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ในส่วนดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ