โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔,๓๖๕, ๒๙๕, ๘๐, ๘๓, และ ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๔, ๓๖๕, ๒๙๕, ๘๐, ๘๓, ๙๐ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๖๕ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกคนละ ๑ ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทั้งสองกรรมตามฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานและฐานพยายามทำร้ายร่างกายดังฟ้องโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ ฯลฯ เชื่อได้ว่า ผู้เสียหายและนางสมัยได้เห็นจำเลยที่ ๑ ยืนบนชานบ้านและเห็นจำเลยที่ ๒ ยืนอยู่ที่เชิงบันไดพร้อมกับพวกจริง สาเหตุที่จำเลยทั้งสองกับพวกมาที่บ้านผู้เสียหายน่าจะเนื่องมาจากกรณีที่เกิดชกต่อยกันในตอนเย็นวันนั้น แสดงให้เห็นเจตนาที่จะมาทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกระโดดลงจากบ้านวิ่งหนีจำเลยทั้งสองกับพวกยังไล่ติดตามไปอีกจนถึงบ้านของนางสมรซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๓๐ วา ส่อเจตนาให้เห็นว่าจะต้องทำร้ายผู้เสียหายให้ได้ ฯลฯ จำเลยทั้งสองกับพวกวิ่งไล่ตามผู้เสียหายห่างวาเศษเท่านั้น ฯลฯ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกวิ่งไล่ติดตามผู้เสียหายไปนี้ หากจำเลยทั้งสองกับพวกไม่เห็นนายสมกูลกับนางสมรลงมาจากบ้านและผู้เสียหายวิ่งหนีไม่ทันก็อาจถูกจำเลยทั้งสองกับพวกซึ่งมีอาวุธปืนสั้นและมีดสั้นที่ถืออยู่ทำร้ายเอาได้เพราะระยะห่างกันเพียงวาเศษเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานและฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายดังฟ้องโจทก์ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานและความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายต่างเป็นความผิดในตัวเองสามารถแยกออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายก็ด้วยเจตนาที่จะทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกระโดดจากบ้านวิ่งหนี จำเลยทั้งสองกับพวกก็วิ่งไล่ติดตามไปในทันทีทันใดเพื่อจะทำร้ายให้ได้ เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากเจตนาเดิมยังมิได้ขาดตอนการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งต้องลงโทษตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น