โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278 วรรคสอง, 283 ทวิ, 284, 310, 318
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสอง (ที่ถูก ผู้เสียหายที่ 2) ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ, 284, 310 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานดังกล่าวออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคสอง, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร (ที่ถูก ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร) จำคุก 3 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 (เดิม), 318 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 44 ปี ปัจจุบันจำเลยอยู่กับภริยาคนที่ 2 ไม่มีบุตรด้วยกัน จำเลยมีบุตรกับภริยาคนแรก 2 คน นับว่าเป็นผู้มีวัยวุฒิและประสบการณ์ชีวิตพอสมควร สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด แต่จำเลยกลับไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีฉวยโอกาสมุ่งสนองอารมณ์ใคร่ของตนเอง โดยกระทำการคุกคามทางเพศที่สร้างความเสื่อมเสียและความหวาดกลัวแก่ผู้เสียหายที่ 2 จนต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพจิต ในช่วงแรกผู้เสียหายที่ 2 มีอาการไม่ชอบร่างกายตัวเองและต้องการฆ่าตัวตาย ต่อมามีอาการดีขึ้นแต่ยังคงหวาดกลัวชายอื่น และกลัวความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้เป็นคนเก็บตัวไม่กล้าอยู่ในสถานที่มีคนมาก ทั้งเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองสร้างความเดือดร้อนกังวลใจและความรู้สึกอับอายแก่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไปนาน 2 ปีเศษ จึงถูกจับกุมได้ตามหมายจับ แสดงว่าจำเลยมิได้สำนึกผิดในการกระทำของตน หรือแสดงความรับผิดชอบช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายทั้งสองเพื่อบรรเทาผลร้ายภายในเวลาอันสมควร แม้จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสองจนเป็นที่พอใจ และผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องข้อ 1 ข ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยการล่วงล้ำ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามมาตรา 3 โดยขณะกระทำความผิดการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) มิใช่ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตามมาตรา 278 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย และเมื่อฐานความผิดตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องปรับบทความผิดตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่ระวางโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังมีระวางโทษเท่ากับมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ในส่วนระวางโทษตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้กำหนดโทษตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม), 318 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.