โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธแทงนายชูชีพ 1 ทีถูกบริเวณชายโครงด้านซ้ายโดยเจตนาฆ่า ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 297, 80
จำเลยให้การรับว่าได้แทงผู้เสียหายแต่เป็นการป้องกันตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยมีจิตบกพร่องนั้น จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์เองว่าจำเลยเคยถูกไม้นั่งร้านล้มทับศรีษะและเคยเป็นลมชัก มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยกระทำผิดในขณะจิตบกพร่อง สำหรับการกระทำผิดในขณะที่จิตบกพร่องนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติว่าไม่ต้องรับโทษหรืออาจจะได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพียงใดก็ได้ เช่นเดียวกับการกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะตามมาตรา 72 หรือการกระทำผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67 ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาที่จะยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง กำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1446/2498 และคำพิพากษาฎีกาที่ 1750/2514
นอกจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า จำเลยเคยถูกไม้นั่งร้านล้มทับศรีษะและเคยเป็นลมชัก ผู้เสียหายและจำเลยไม่เคยมีสาเหตุอะไรมาก่อน ขณะถูกแทงผู้เสียหายยังถามจำเลยว่าสบายใจหรือยังยังปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่า คืนเกิดเหตุจำเลยนอนไม่หลับ เนื่องจากหูได้ยินเสียงแว่วว่าจะมีคนมาทำร้ายจึงลุกมานั่งที่ประตูทางเข้า ถือมีดปลายแหลมไว้ป้องกันตัว ตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกา จนกระทั่ง 00.30 นาฬิกา จึงได้ยินเสียงคล้ายคนมาดึงประตูจะมาทำร้ายจึงลุกขึ้นดึงประตูไว้พร้อมกับเรียกให้ภริยามาช่วยดึงประตูและร้องเรียกให้คนช่วย หลังเกิดเหตุจำเลยก็มิได้หลบหนี กลับปรากฏว่าภริยาจำเลยพาจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา พฤติการณ์ดังกล่าวทั้งหมดแสดงชัดว่าจำเลยกระทำผิดในขณะมีจิตบกพร่อง
พิพากษายืน