โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนตี ใช้เท้าเตะถีบทำร้ายเจ้าทรัพย์สามคน แล้วยิงนายวันเจ้าทรัพย์ตาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ มีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงตายเพื่อปกปิดการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย พิพากษาให้จำคุก
จำเลยที่ ๑ ที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดของจำเลยที่ ๑, ๕ ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ พิพากษาแก้
โจทก์ฎีกาว่า ความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ไม่ใช่วรรค ๔
โจทก์นำสืบว่า คนร้ายมาปล้นบ้านนายวันนางหนูลา คนร้ายคนหนึ่งถีบนางหนูลาล้มลงที่ชาน ศีรษะแตก และมีคนร้ายวิ่งไปที่เรือนนางทองดี แล้วยิงปืนขึ้น ๑ นัด คนร้ายตีและเตะนางทอดี แล้วค้นของได้เงิน เสื้อ คนร้ายขึ้นเรือนนายวัน ตีนายวันและค้นของมากองไว้ที่ชาน แล้วช่วยกันมัดของ คนร้ายทำการอยู่ชั่วหุงข้าวเหนียวสุก ๑ หวด จึงคุมตัวนายวันบังคับให้ไปส่ง ระหว่างทางคนร้ายยิงปืนเป็นระยะ ๆ เมื่อถึงไร่ห่างบ้านนายวันประมาณ ๔๐ เส้น คนร้ายยิงนายวัน ๓ นัด ถึงแก่ความตาย
ศาลฎีกาเห็นว่า หลักฐานของพยานโจทก์ มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ เป็นคนร้ายจริงตามฟ้อง
ปัญหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสุดท้ายตามฎีกาโจทก์หรือไม่นั้น มาตรา ๓๔๐ วรรคสุดท้ายบัญญัติว่า "ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต" ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า นายวันมิได้ถูกจำเลยกับพวกยิงตายในขณะปล้น แต่เพิ่งจะไปถูกยิงตายต่างตำบลต่างอำเภอกับที่เกิดเหตุปล้น ห่างไกลถึง ๔๐ เส้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายวันถูกยิงตายมิใช่เป็นการยิงต่อเนื่องกับการปล้น หรือเป็นผลซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมดาจากการปล้นทรัพย์แต่ประการใด การปล้นทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว ฉะนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรค ๔ นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน.