โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 15177, 96855 และ 96856 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาและได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า โจทก์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 8 คน โจทก์เป็นน้องคนสุดท้อง จำเลยเป็นพี่คนโต พี่น้องต่างแยกย้ายไปมีครอบครัวของตนเอง มีการไปมาหาสู่กันบ้างบางคน โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนางธัญชนก แต่ไม่มีบุตร เดิมโจทก์มีรายได้จากเงินค่าเช่าตึกแถวบนที่ดินพิพาทสองแปลงเดือนละ 30,000 บาท ภริยาของโจทก์ตั้งแผงขายของอยู่บนห้างสรรพสินค้ามีรายได้น้อย และโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15177, 96855 และ 96856 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ภายหลังโจทก์ทวงถามที่ดินคืนจากจำเลย แต่ถูกจำเลยปฏิเสธและจำเลยจะนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถวที่โจทก์เก็บค่าเช่าอยู่ไปขายให้บุคคลภายนอกห้องละ 9,000,000 บาท โจทก์และภริยาของโจทก์ จึงได้ยื่นคำขออายัดที่ดินทั้งสามแปลงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร อ้างว่า โจทก์ทำนิติกรรมยกให้ที่ดินแก่จำเลยขณะที่โจทก์มีอาการเจ็บป่วยทางระบบประสาทและอยู่ในระหว่างการรักษา ขาดสติสัมปชัญญะในการพิจารณาตัดสินใจจนหลงเชื่อและหลงผิดตามคำชวนเชื่อของจำเลย ให้โอนที่ดินเพื่อไปทำกิจกรรมเรื่องที่ไม่สมควร ไม่สมเหตุสมผล ภายหลังจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมา จำเลยก็ไม่เคยดูแลโจทก์ในเรื่องค่ารักษาอาการทางจิตและชีวิตความเป็นอยู่ และนำที่ดินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เดิมที่ตกลงกันไว้ เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งรับคำขออายัดที่ดินพิพาททั้งสามแปลง วันที่ 7 ตุลาคม 2562 จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์และภริยาเป็นจำเลยร่วมกันต่อศาลแขวงพระนครเหนือในข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ขณะที่โจทก์ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยนั้น โจทก์เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์มีโจทก์กับภริยาของโจทก์และนางแสงสุนีย์กับนางกัลยา ซึ่งเป็นพี่สาวของโจทก์มาเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า แม้พี่น้องของโจทก์ต่างแยกไปมีครอบครัวแต่ก็ยังไปมาหาสู่และติดต่อกัน โจทก์เริ่มป่วยทางจิตมาตั้งแต่ปี 2539 มีอาการเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ใจสั่น ความคิดฟุ้งซ่าน โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ศ. แพทย์วินิจฉัยว่าโจทก์ป่วยด้วยโรควิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ โดยมีหลักฐานบัตรประจำตัวผู้ป่วยและประวัติการรักษาที่โรงพยาบาล ศ. ภริยาของโจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โจทก์มีอาการหนักขึ้น และต่อมาเห็นอาการของโจทก์หนักขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ถ่ายคลิปวิดีโอตอนที่โจทก์มีอาการทางจิต ซึ่งภาพที่ปรากฏโจทก์ไม่สามารถอยู่นิ่งต้องเดินไปมาและพูดตลอดเวลาว่าทุกข์ทรมานมากเพราะหยุดความคิดตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2560 ภริยาของโจทก์จึงได้พาโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ม. แพทย์ได้วินิจฉัยด้วยเหตุผลเดียวกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ศ. วินิจฉัยก่อนหน้านั้นว่าโจทก์ป่วยด้วยโรควิตกกังวลและโรคย้ำคิดย้ำทำ นอกจากนี้โจทก์ยังมีแพทย์หญิงอำไพขนิษฐ์ จิตแพทย์ผู้เคยรักษาอาการของโจทก์ที่โรงพยาบาล ศ. มาเบิกความประกอบประวัติการรักษาของโจทก์ที่โรงพยาบาล ศ. และโรงพยาบาล ม. ว่า โจทก์มีอาการวิตกกังวลต้องทานยาต่อเนื่อง อาการจึงจะสงบลงได้ ซึ่งโรควิตกกังวลนั้น เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง หากผู้ป่วยขาดยาและไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะรู้สึกไม่สบาย เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน คิดในเรื่องที่ไม่สมควรคิดมากขึ้น และรู้สึกทรมานต่ออาการของตัวเอง มีความคิดในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มมากขึ้นด้วย เห็นว่า เมื่อตรวจดูบันทึกประวัติการรักษาของโจทก์ แพทย์ได้สั่งยาให้โจทก์รับประทานเพื่อรักษาอาการทางจิตประกอบด้วยยาหลายชนิด เช่น ยาต้านเศร้า ยานอนหลับ ยาคลายกังวล และยาคุมอาการทางจิตอย่างต่อเนื่องมานาน แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้มารักษาต่อเนื่อง โจทก์จึงขาดยาบ่อยทำให้อาการทางจิตเริ่มกำเริบรุนแรงมากขึ้น ไม่สามารถทำงานได้ บางครั้งถึงขนาดต้องให้ยาฉีดแทนยากิน ดังนี้ แม้โจทก์จะมีความสามารถตามกฎหมายแต่ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริงอันอาจจะเป็นเพียงบางช่วงเวลา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความผิดปกติทางร่างกายที่มีผลกระทบต่อจิตใจจริง ๆ การที่โจทก์สามารถประกอบกิจวัตรได้เป็นเพียงทางกายภาพบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่โจทก์ยังมีภาวะผิดปกติทางจิตที่มีความผิดปกติของความคิด อารมณ์ พฤติกรรมบางอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งหากดูจากภายนอกย่อมไม่อาจทราบได้ว่าแท้จริงแล้วโจทก์เป็นผู้ป่วยทางจิตเวชอยู่ ไม่อาจตัดสินใจเรื่องใดในทางที่สมเหตุสมผลได้เหมือนคนปกติ และหลายครั้งที่ผู้ป่วยทางจิตเวชต้องกระทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากไม่อาจทนทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่จนไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล กรณีของโจทก์แพทย์จึงต้องให้ยาต้านเศร้าร่วมด้วยนอกเหนือจากยาคลายวิตกกังวลและยานอนหลับเพื่อปรับอารมณ์ของโจทก์ให้เกิดความสมดุลมากขึ้น และเมื่อพิจารณาประวัติการเข้าพบแพทย์แต่ละครั้งก็ต้องรับยาทางจิตเวชเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงว่าอาการไม่ดีขึ้น แพทย์หญิงอำไพขนิษฐ์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์ที่รักษาโจทก์มานาน ความเห็นของแพทย์หญิงอำไพขนิษฐ์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้น ขณะที่โจทก์ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยนั้น โจทก์ขาดการรักษาที่โรงพยาบาล ศ. และไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงวันที่ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยนานประมาณ 6 เดือนแล้ว เชื่อว่าอาการของโจทก์ยังคงมีความวิตกกังวลสูง ฟุ้งซ่าน คิดในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล สภาพภายในจิตใจของโจทก์ยังคงทุกข์ทรมานอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง เจตนาที่แสดงออกจึงวิปริต ประกอบกับโจทก์กับภริยาไม่ได้มีฐานะร่ำรวย โจทก์มีรายได้จากการให้เช่าตึกแถวบนที่ดินพิพาทเดือนละ 30,000 บาท การที่โจทก์พักอยู่กับจำเลยเพียงหนึ่งสัปดาห์ แล้วโจทก์ก็ไปยกที่ดินให้จำเลยคนเดียวโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน หลังจากนั้นจำเลยจะนำที่ดินพิพาทออกขายแก่บุคคลภายนอกและบอกเลิกสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวแก่ผู้เช่า เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ในการดำรงชีพ ทั้งไม่เพียงแต่จำเลยจะไม่เลี้ยงดูโจทก์ แต่ยังฟ้องโจทก์กับภริยากล่าวหาว่าแจ้งอายัดเท็จต่อเจ้าพนักงานเพื่อให้โจทก์และภริยาได้รับโทษทางอาญาอีกด้วย การที่โจทก์ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแก่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และจำเลยไม่ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่โดยตรงในวันที่สอบสวนโจทก์และจำเลยขณะทำนิติกรรมให้ที่ดินว่าโจทก์มีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยได้หรือไม่ คงมีแต่นางสาวเสาวลักษณ์และนางสาวมาลัยรัตน์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินและลูกจ้างของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร ตามลำดับ มาเบิกความเกี่ยวกับขั้นตอนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการสอบสวนและต่างเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า พยานทั้งสองไม่ทราบพฤติการณ์ของโจทก์ขณะถูกสอบสวนทำนองว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับโจทก์ ได้ความจากโจทก์และจำเลยแต่เพียงว่ามีนายเรวัติ บุตรชายจำเลย เป็นผู้เดินเอกสารทั้งหมดจนแล้วเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินนำเอกสารที่ดินมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ แม้เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนให้ที่ดินจะเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงแต่ก็ไม่มีพยานคนใดยืนยันว่าขณะจดทะเบียนให้นั้นโจทก์มีอาการจริตวิกลหรือไม่ ทั้งก่อนให้ที่ดินเชื่อว่าพี่น้องของโจทก์ทุกคนรวมทั้งจำเลยยังคงมีการสื่อสารพูดคุยกันอยู่บ้างเนื่องจากมีการตั้งแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มพี่น้องด้วยกัน ดังนั้น ที่โจทก์ป่วยด้วยโรควิตกกังวลและต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษานานถึง 20 ปี นั้น จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวคนโต แม้จะเบิกความว่าไม่ชอบภริยาของโจทก์ แต่ก็เชื่อว่าจำเลยรู้ดีว่าโจทก์ป่วยด้วยโรควิตกกังวลสูงไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ปัญหาต่อเนื่องว่า จำเลยได้ขอให้โจทก์ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแก่จำเลยโดยหลอกลวงโจทก์ว่าอาการของโจทก์เป็นเรื่องของเวรกรรมไม่ได้ป่วยด้วยโรคจิตเวชและต้องแก้กรรมจริงหรือไม่ โดยอ้างว่าเมื่อจำเลยได้ที่ดินมาแล้ว จำเลยจะทำเป็นมูลนิธินำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในทางกุศลเพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว อาการของโจทก์ก็จะหายไปเองนั้น ประเด็นนี้ได้ความจากนางแสงสุนีย์และนางกัลยา พี่สาวโจทก์ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เห็นโจทก์มีอาการแปลก ๆ เหมือนคนไม่ปกติ พูดคนเดียวตลอดเวลา เดินไปเดินมา พูดแต่เรื่องเวรกรรม จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า โจทก์บอกกับจำเลยว่า โจทก์เครียดเรื่องภริยา อกหัก จิตใจล้มเหลว ช่วงที่โจทก์พักกับจำเลย โจทก์มีอาการชอบเดินไปมาสำรวจบ้าน ไม่ชอบนั่งอยู่นิ่ง ๆ นอกจากนี้นางแสงสุนีย์ยังเบิกความว่า ก่อนทำนิติกรรมหนึ่งวัน นางแสงสุนีย์ไปที่บ้านจำเลย และได้พบกับโจทก์ แล้วโจทก์เล่าให้ฟังว่าเป็นทุกข์ทรมาน เพราะเป็นเวรเป็นกรรม และบิดามารดาคงทุกข์ทรมานจึงส่งผลให้โจทก์ทุกข์ทรมานด้วยตามที่จำเลยบอกแก่โจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์โอนที่ดินพร้อมตึกแถวเพื่อส่งบุญให้บิดามารดา แล้วโจทก์จะหายจากอาการที่เป็น นางแสงสุนีย์จึงห้ามโจทก์ แต่จำเลยตอบกลับนางแสงสุนีย์ว่า ต้องตั้งกองทุนทำบุญให้บิดามารดาเพราะบิดามารดาขาดบุญ ข้อนี้ได้ความอีกว่า โจทก์ไม่ได้ไปพบแพทย์ตามนัดหลายครั้งเพราะยังเชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมไม่ใช่เรื่องจิตเวช ดังนั้น จึงเชื่อว่าจำเลยได้มีการพูดคุยกับโจทก์เรื่องเวรกรรมตามที่นางแสงสุนีย์เบิกความเพื่อใช้เรื่องเวรกรรมจูงใจให้โจทก์ทำนิติกรรมให้ที่ดินแก่จำเลยโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน ประกอบกับจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเป็นคนบอกให้โจทก์ให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย ไม่ใช่โจทก์มีเจตนาแต่แรกจะยกที่ดินให้แก่จำเลย โดยจำเลยอ้างว่าเพื่อไม่ต้องการให้มรดกของโจทก์ตกได้แก่ภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นคนนอก และจำเลยไม่ชอบภริยาโจทก์ จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยต้องการที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักในการรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยนั้น โจทก์ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อโจทก์ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยในขณะมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นบุคคลวิกลจริตจนต่อมายังคงเป็นบุคคลวิกลจริตไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์บอกล้างนิติกรรมการให้เกินกว่าหนึ่งปีนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม จึงเป็นการบอกล้างโมฆียกรรมเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้น เมื่อได้วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่า โจทก์ทำนิติกรรมการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่จำเลยในขณะที่โจทก์เป็นบุคคลวิกลจริต ดังนี้ ในวันที่โจทก์ทำนิติกรรมดังกล่าวย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของโจทก์โดยจำเลยมิได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นประการอื่นว่า โจทก์มีอาการดีขึ้นและสติสัมปชัญญะเหมือนเช่นคนปกติจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมอันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในช่วงประมาณต้นปี 2562 โจทก์ได้โทรศัพท์ทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงคืนให้แก่โจทก์ ถือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อนับแต่เวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวไม่เกินกำหนดเวลาหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 คำแก้ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมโดยชอบแล้วมีผลทำให้นิติกรรมที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่จำเลยโดยเสน่หาตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 15177, 96855, และ 96856 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ