โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 340, 340 ตรี, 370 ริบมีดดาบและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุกคนละ 18 ปี ริบอาวุธมีดดาบและรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน บตษ กรุงเทพมหานคร 722 ของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งกัน ฟังยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2546 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับนายสุทัศ นั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านขายอาหารอีสานหน้าปั๊มน้ำมันบางจาก ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ได้ถูกคนร้ายเป็นชาย 3 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดบริเวณหน้าร้านขายอาหาร แล้วเข้ามาพูดจาหาเรื่องข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสองกับพวก โดยพวกของคนร้ายคนหนึ่งชักมีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ออกมาข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ถอดต่างหูทองคำหนักครึ่งสลึง ราคาประมาณ 650 บาท ที่ใส่อยู่ที่หูส่งมอบให้และข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปซื้อเบียร์ให้ 2 ขวด ราคา 76 บาท จากนั้นคนร้ายทั้งสามได้พากันนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง ตรวจท้องที่ผ่านมาได้รับแจ้งเหตุจากกลุ่มผู้เสียหายแล้วได้ออกติดตามจับกุมคนร้าย จนเวลาประมาณ 2.30 นาฬิกา ก็พบจำเลยทั้งสามนั่งดื่มเบียร์อยู่ที่ริมถนนบริเวณหน้าบ้านจำเลยที่ 3 ซอยสาธุประดิษฐ์ 28 ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดยมีรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บตษ กรุงเทพมหานคร 722 ที่ได้รับแจ้งว่า เป็นรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้เป็นยานพาหนะขับหลบหนีไปจอดอยู่ข้าง ๆ จึงเข้าทำการตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมยึดได้เบียร์ที่เปิดดื่มไปแล้วครึ่งขวด และให้จำเลยที่ 1 พาไปเอามีดดาบที่ซ่อนไว้บนกำแพง 1 เล่ม กับเบียร์อีก 1 ขวด ยังไม่ได้เปิดที่ซ่อนไว้อยู่ข้างกำแพง ยึดไว้เป็นของกลาง ในชั้นจับกุมและสอบสวนกล่าวหาจำเลยทั้งสามว่าเป็นคนร้ายที่ร่วมกันกรรโชกทรัพย์ โดยมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ และพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยและไม่มีเหตุสมควร ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งพนักงานอัยการแล้ว ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบข้อหาเพิ่มเติม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาร่วมกันกับพวกปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 หรือไม่ เห็นว่า การสอบสวนเป็นเพียงการที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน เพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดเท่านั้น ดังนั้น แม้เดิมจะแจ้งข้อหาหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่า การกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่น ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวมาแล้วแต่แรก ฉะนั้น เมื่อคดีนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อโจทก์เห็นว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก เข้าองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โจทก์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองตามฟ้องหรือไม่... เห็นว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน มีร้านขายอาหารและมีร้านสะดวกซื้อไดมอนกรีน ตั้งอยู่ในบริเวณปั๊ม จึงเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างจากไฟฟ้าเพียงพอที่จะมองเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจนตามที่ร้อยตำรวจเอกเรืองวิทย์เบิกความไว้ ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้เข้ามาพูดจาหาเรื่องกับกลุ่มผู้เสียหายที่นั่งรับประทานอาหารที่บริเวณร้านขายอาหารอีสานหน้าปั๊มน้ำมันก่อน แล้วคนร้าย 2 คนยังบังคับเดินตามหลังผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปซื้อเบียร์ในร้านสะดวกซื้อในบริเวณปั๊มน้ำมันอีกด้วย จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองกับพวกมีเวลา มีโอกาสประกอบกับมีแสงสว่างเพียงพอที่จะสามารถจดจำใบหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แน่ชัด เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกไม่ได้สวมหมวกหรือใช้ผ้าปิดบังใบหน้าแต่อย่างไร รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดในบริเวณนั้นถึง 2 ครั้งก่อนเกิดเหตุ จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองกับพวกมีโอกาสจดจำรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้เชื่อได้ว่าภายหลังเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายทั้งสองกับพวกได้พบกับร้อยตำรวจเอกเรืองวิทย์กับพวกซึ่งตรวจท้องที่ผ่านมาพอดี จึงเข้าแจ้งเหตุ และแจ้งรูปพรรณคนร้ายรวมทั้งยานพาหนะที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิดให้ร้อยตำรวจเอกเรืองวิทย์กับพวกทราบได้ทันที ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้เสียหายโดยทั่วไปที่เพิ่งจะประสบเหตุร้ายพึงปฏิบัติเช่นนั้น จึงเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกรืองวิทย์สามารถกระจายกำลังติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกพร้อมของกลางบางส่วนได้ภายในเวลาหลังเกิดเหตุและหลังจากรับแจ้งเหตุเพียงประมาณหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น ทั้งได้ให้เจ้าพนักงานตำรวจไปตามตัวผู้เสียหายทั้งสองกับนายสุทัศมาชี้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกพร้อมของกลางในคืนนั้นทันที จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า ผู้เสียหายทั้งสองกับนายสุทัศสามารถจดจำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าเป็นคนร้ายที่ร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบข่มขู่เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองไปในคืนเกิดเหตุจริงตามที่ได้ให้การไว้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ดังนั้นถึงแม้ผู้เสียหายที่ 2 กับนายสุทัศจะเบิดความบ่ายเบี่ยงกลับคำให้การที่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน เป็นทำนองว่าจำคนร้ายทั้งสามไม่ได้ เพราะกลัวจะถูกทำร้ายจึงไม่กล้ามองหน้าคนร้ายทั้งสาม ซึ่งขัดแย้งกันกับที่เคยให้การในชั้นสอบสวนอย่างสิ้นเชิงนั้น อาจเนื่องมาจากผู้เสียหายที่ 2 ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จึงไม่ประสงค์จะเอาเรื่องกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปหรืออาจกลัวว่าจะถูกพวกจำเลยทำร้ายได้หากพูดความจริง เพราะยังคงทำงานอยู่ที่บริษัทแอ็คเตอร์ จำกัด ซอยสาธุประดิษฐ์ 20 ใกล้ที่เกิดเหตุจึงเป็นเหตุให้ต้องเบิกความกลับคำให้การของตนในชั้นสอบสวน ซึ่งแตกต่างจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ปัจจุบันออกจากงานและกลับไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว จึงไม่เกรงกลัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีก จึงกล้าเบิกความตามที่เกิดขึ้นจริงซึ่งตรงกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนยืนยันว่าพวกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนชักมีดดาบออกมาจากกระดาษที่ห่อแล้วนำมาจี้ที่ใบหูข้างซ้ายของพยาน แล้วบอกให้พยานถอดต่างหูทองคำส่งมอบให้จำเลยที่ 1 และยืนยันว่าคนร้ายทั้งสามเป็นคนพูดในลักษณะข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปซื้อเบียร์มาให้ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เดินตามผู้เสียหายที่ 2 ไปซื้อในร้านค้าที่บริเวณปั๊มน้ำมันก่อนที่จะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลบหนีไป และระหว่างทางเดินกลับที่พักได้พบกับเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจตรวจท้องที่ผ่านมาจึงเข้าแจ้งเหตุให้ทราบ ต่อมาคืนนั้นเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 กับเจ้าพนักงานตำรวจได้มาตามพยานบอกว่าจับกุมคนร้ายได้แล้ว ให้ไปดูตัวคนร้ายที่สถานีตำรวจ นายสุทัศได้ชี้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกแก่เจ้าพนักงานตำรวจส่วนพยานไม่กล้าชี้ตัว เนื่องจากทั้งสามคนเคยพูดข่มขู่ไว้ว่าสามารถจำหน้าพยานกับผู้เสียหายที่ 2 ได้ หากแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจก็จะกลับมาทำร้ายในภายหลัง และพยานยังยืนยันว่านายสุทัศชี้ตัวคนร้าย โดยไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความว่านายสุทัศชี้ตัวตามคำบอกของเจ้าพนักงานตำรวจ ตามที่นายสุทัศเบิกควมแต่อย่างไร จึงเชื่อว่านายสุทัศได้ชี้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกในคืนเกิดเหตุด้วยความสมัครใจเอง ไม่มีใครชี้แนะหรือบังคับให้ชี้ เพราะหากนายสุทัศยังกลัวและไม่กล้าชี้ตัวคนร้ายเช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ 1 แล้ว นายสุทัศก็สามารถปฏิเสธไม่ชี้ตัวได้แต่หาได้ทำเช่นนั้นไม่ แสดงว่านายสุทัศชี้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกด้วยความสมัครใจโดยไม่มีคนชี้แนะบอกให้ชี้ตามที่เบิกความในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 1 ยังยืนยันว่า บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานและแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุถูกต้องซึ่งต่างจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 และนายสุทัศที่พยายามเบิกความบ่ายเบี่ยงว่าคำให้การชั้นสอบสวนและแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุไม่ถูกต้อง และไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเป็นคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ตน ทั้งนี้เพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่คนร้ายร่วมกับพวกกระทำผิดคดีนี้นั้น เป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นผิดทั้งคำเบิกความในชั้นพิจารณา พยานทั้งสองมีโอกาสเสริมแต่งเรื่องให้เป็นอย่างอื่น ต่างจากที่พยานทั้งสองได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุภายหลังจับกุมจำเลยทั้งสามได้ทันที ซึ่งไม่มีโอกาสเสริมแต่งคำให้การเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 และนายสุทัศมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหายทั้งสองตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองศาลมีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกใช้ในการกระทำผิดโดยตรงเพียงแต่เป็นยานพาหนะที่จำเลยที่ 3 และที่ 3 กับพวกใช้พาไปกระทำผิดและพาหลบหนีเท่านั้น จึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกใช้เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุมเท่านั้น จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ศาลจะพึงสั่งริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บตษ กรุงเทพมหานคร 722 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์