โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 12,913,063.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ในต้นเงิน 8,490,046 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลอนาคต 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกัน ในชั้นนี้ฟังยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการท่องเที่ยวโดยทำสัญญากับผู้ประกอบการโรงแรมหรือผู้ให้บริการห้องพักเพื่อขายห้องพักต่อให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการท่องเที่ยวโดยรับจัดหาห้องพักให้แก่นักท่องเที่ยวทางอินเทอร์เน็ต และมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 มีศักดิ์เป็นอาของจำเลยที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2557 โจทก์ตกลงให้บริการจองห้องพักแก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 2 ติดต่อขอจองและใช้บริการรวม 223 รายการ เป็นเงิน 8,490,046 บาท และโจทก์ชำระเงินให้แก่ผู้ให้บริการครบถ้วนแล้ว ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม 2557 จำเลยที่ 2 เคยโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 574,928 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการบรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามรับผิดตามมูลหนี้ละเมิดและอุทธรณ์ของโจทก์นอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า การปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจะเข้าลักษณะตามมูลหนี้สัญญาหรือมูลหนี้ละเมิดนั้น เป็นข้อหารือบทซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายเอง แต่โจทก์ต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามได้กระทำ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิก็เพียงพอแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวโดยให้บริการห้องพักเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้บริการสำรองห้องพักทางอินเทอร์เน็ตและมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการจำเลยที่ 3 มีเจตนาทุจริตในการทำธุรกรรมกับโจทก์กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสนอบริการห้องพักในโรงแรมต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์เมื่อนักท่องเที่ยวขอจองห้องพัก จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แจ้งความประสงค์ขอจองห้องพักจากโจทก์อีกทอดหนึ่ง เมื่อโจทก์ตกลงจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้นักท่องเที่ยวชำระเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งให้โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ในชื่อจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ชำระค่าห้องแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว ทำให้โจทก์เสียหายโดยระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2557 โจทก์ตกลงให้บริการห้องพักแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วเรียกเก็บเงินค่าบริการจองห้องพักจากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระรวมเป็นเงิน 8,490,046 บาท จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าห้องพักดังกล่าวพร้อมค่าปรับและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระ นั้น จึงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ต้องการแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าเป็นตัวการที่แท้จริงตามสัญญาให้บริการจองห้องพักของโจทก์และใช้ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้บริการของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสามตามมูลหนี้สัญญาให้บริการจองห้องพักแล้ว และศาลย่อมมีอำนาจปรับบทกฎหมายถึงความรับผิดในส่วนนี้ได้ หาใช่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้สัญญาให้บริการจองห้องพักตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยมานั้น เมื่อคู่ความต่างสืบพยานกันจนเสร็จสิ้นและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย โจทก์ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ชื่อจำเลยที่ 3 ติดต่อจองห้องพักกับโจทก์ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ซึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 นั้นข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2557 โจทก์ตกลงให้บริการจองห้องพักแก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนติดต่อขอจองและใช้บริการรวม 223 รายการ เป็นเงิน 8,490,046 บาท และโจทก์ชำระเงินให้แก่ผู้ให้บริการห้องพักครบถ้วนแล้ว ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม 2557 จำเลยที่ 2 เคยโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้บางส่วนซึ่งเป็นการชำระหนี้ที่ค้างชำระระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2555 ถึงเดือนมีนาคม 2557 เป็นเงิน 574,928 บาท ยังคงค้างชำระตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์พยายามทวงถามแล้วแต่จำเลยที่ 3 เพิกเฉย จำเลยที่ 3 ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามจำนวนดังกล่าว คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางสาวปฐมา กรรมการและผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สั่งจองห้องพัก โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) และใช้หลายที่อยู่ (e-mail address) แม้จำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่เคยติดต่อจองห้องพักกับโจทก์เลยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านทนายความโจทก์รับว่าเคยประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกับจำเลยที่ 3 ในนามบริษัท 247 สยาม จำกัด กับโจทก์ โดยใช้โทรศัพท์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) อีกทั้งยอมรับว่าเคยติดต่อทำธุรกิจกับโจทก์ผ่านนางสาวปฐมาทางโทรศัพท์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยไม่เคยพบหน้ากัน เมื่อการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ของแต่ละคนมักจะใช้ในลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งตามปกติทั่วไปจะต้องมีรหัสผ่านหรือ Password ของตนเองที่บุคคลอื่นไม่อาจรู้ได้ถ้าเจ้าของมิได้ยินยอมให้เข้าใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) นั้น แต่ปรากฏว่ามีการจองห้องพักโดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) มีที่อยู่ (e-mail address) ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นของตนเองรวมอยู่ด้วย ในการติดต่อจองห้องพัก ประกอบกับนางสาวปฐมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ช่วงต้นปี 2557 ถึงเดือนเมษายน 2557 พยานและทีมงานได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าบริการที่ค้างชำระ โดยพยานติดต่อกับจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งว่าอยู่ระหว่างขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ และยังแจ้งว่าเหตุที่ยังไม่ชำระเพราะนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจโรงแรมที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมื่อธนาคารอนุมัติประมาณปลายเดือนเมษายน 2557 จะชำระให้ก่อน 5,000,000 บาท แต่ก็ไม่ชำระและไม่ได้รับการติดต่ออีก ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมของจำเลยที่ 1 ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้น จำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่ามีอยู่จริง นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) และลงชื่อผู้เขียนข้อความว่า Ms.Nam หรือ "น้ำ" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 2 ทั้งที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่าจำเลยที่ 2 พูด อ่านและเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่กลับเป็นจำเลยที่ 1 พูด อ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ จึงเชื่อว่าการติดต่อระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ต่าง ๆ ตามที่โจทก์นำสืบ เป็นการติดต่อโดยจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ติดต่อใช้บริการจองห้องพักกับโจทก์ตามฟ้องจริง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ที่ค้างชำระร่วมกับจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นนอกจากนางสาวปฐมา กรรมการและผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สั่งจองห้องพักโดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แล้ว ยังปรากฏว่าภายหลังที่โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้ในเดือนมกราคม 2557 จำเลยที่ 2 โอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 574,928 บาท ให้โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมติดต่อใช้บริการจองห้องพักกับโจทก์ในนามจำเลยที่ 3 และแม้ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 บัญญัติว่า "ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน" ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 กระทำการในขอบอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 3 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมผูกพันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้บริการจองห้องพักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะต้องมีธุรกรรมทางการเงินในการประกอบธุรกิจ แต่กลับไม่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 3 มีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารใดเลย เพื่อจะใช้รองรับธุรกรรมทางการเงินของจำเลยที่ 3 คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 3 ใช้บัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ในการทำธุรกรรมทางการเงินซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจและส่อไปในทางไม่โปร่งใส เพราะไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องทางบัญชีในการทำงบดุลประจำปีของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทได้ ทั้งปรากฏตามสำเนาบัญชีว่ามีเงินเข้าออกในบัญชีของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวตลอดเวลาและเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้เชื่อว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นรายได้และรายจ่ายของจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 สามารถเบิกจ่ายโดยง่ายเพียงคนเดียวและไม่ต้องลงรายการบัญชีรายรับรายจ่ายของจำเลยที่ 3 ทั้งที่จำเลยที่ 3 มีภาระหนี้สินกับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 มุ่งประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคลภายนอกและหากโจทก์ชนะคดีก็ไม่อาจบังคับคดีจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้เพียงพอกับจำนวนหนี้ ดังปรากฏตามสำเนางบการเงินที่มีทรัพย์สินไม่มาก การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวตามฟ้องเช่นกัน อย่างไรก็ตามโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในส่วนของค่าปรับสำหรับการชำระเงินล่าช้าว่ามีต่อกันอย่างไร หรือมีประเพณีทางธุรกิจประเภทนี้สำหรับการชำระเงินล่าช้ากันอย่างไรบ้าง จึงไม่อาจเรียกค่าปรับในส่วนนี้ได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระหนี้เงินให้แก่โจทก์และไม่ปรากฏว่าหนี้เงินดังกล่าวรวมดอกเบี้ยไว้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 9,790,933.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 8,490,046 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 35,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก