โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ร้อยตำรวจเอก อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 400,000 บาท แต่ทิ้งคำร้อง ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีในส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และยกฟ้องคดีส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม ตำแหน่งรองสารวัตรจราจร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 โจทก์ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นรวมประมาณ 13 คน ตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรที่ศาลาที่พักผู้โดยสารบ้านดอนบม ถนนแจ้งสนิท ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์ เป็นพนักงานสอบสวน โจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนในการเปรียบเทียบโดยนั่งเขียนใบเสร็จรับเงินชำระค่าปรับอยู่ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าว ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2563 โจทก์ร่วมเห็นข้อความที่จำเลยโพสต์ลงเฟซบุ๊กของจำเลย มีข้อความตอนหนึ่งว่า "เวลาตั้งจุดตรวจก็ปิดหน้าปิดตายังกะโจรซึ่งทำให้ประชาชนอย่างเราเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะมีบุคลิกคล้ายคลึงกัน" ใต้ข้อความมีภาพชายสวมเสื้อยืดสีดำ 1 ภาพ และภาพโจทก์ร่วมกับร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์แต่งเครื่องแบบตำรวจ สวมหน้ากากอนามัย และโจทก์ร่วมสวมแว่นตาดำลักษณะกำลังทำงานเอกสารอยู่บนโต๊ะใกล้ ๆ ร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์อีก 2 ภาพ เรียงซ้อนกัน โดยภาพล่างมีชื่อกำกับว่าร้อยตำรวจเอกสุภาพ ซึ่งจำเลยโพสต์ตั้งค่าเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปที่เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตทางเฟซบุ๊กสามารถเห็นได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมไม่ใช่พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบคดีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 145 ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเองเป็นการเฉพาะตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 38 และมาตรา 144 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเองเป็นการเฉพาะตัวไปเสียทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 128 (1) และ (2) ได้บัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนที่จะร้องขอหรือสั่งให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทนตนได้บ้าง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมช่วยร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบโดยนั่งเขียนใบเสร็จรับเงินชำระค่าปรับให้แก่ผู้ต้องหากระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจราจรทางบกตามที่ตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร และผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับตามที่ร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว อยู่บนโต๊ะใกล้ ๆ กับร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์พนักงานสอบสวน ถือได้ว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวนซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของร้อยตำรวจโทหญิงเสาวนีย์พนักงานสอบสวน และมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเจาะจงให้พนักงานสอบสวนต้องเขียนใบเสร็จรับเงินชำระค่าปรับด้วยตนเอง การกระทำของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามที่พนักงานสอบสวนได้มอบหมายให้กระทำ และข้อความที่ว่าโจทก์ร่วมปิดหน้าปิดตายังกะโจรเป็นข้อความที่กล่าวสบประมาทโจทก์ร่วมขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 และสอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 44/2 ทั้งโจทก์ร่วมมิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งโดยมิชอบ เห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีส่วนอาญาไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้ยกคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลย สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และพิจารณาคดีส่วนแพ่งไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่