โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวและสำนักงานบริการจัดการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้เป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับและพนักงานเกี่ยวกับการบริการจองตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่นักท่องเที่ยว โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,500 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 600 บาท และส่วนแบ่งร้อยละสิบของรายได้จากการขาย ซึ่งจำเลยทั้งสามประกันส่วนแบ่งของรายได้ว่าจะได้รับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,200 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และจำเลยทั้งสามให้โจทก์ทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 ถึงเดือนพฤศจิกายน2538 จำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินเดือน ค่าครองชีพและส่วนแบ่งรายได้ให้โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่สำนักงานท่องเที่ยวของจำเลยทั้งสาม โดยกล่าวหาว่าตั้งขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตและเพื่อฉ้อโกงประชาชน จำเลยทั้งสามหลบหนีไปเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกจับและควบคุมในระหว่างสอบสวน ระหว่างนั้นจำเลยทั้งสามแจ้งพนักงานสอบสวนกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว ทั้งที่กิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสาม เป็นการใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีแก่โจทก์เพียงผู้เดียว ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างค่าครองชีพ ค่าส่วนแบ่งรายได้ รวมเป็นเงิน 99,600 บาทค่าทำงานล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงิน 14,400 บาทค่าชดเชยเป็นเงิน 30,600 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 10,200 บาท กับค่าเสียหายอีก 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์จิ๊ปคาริบเบี้ยนที่จำเลยร่วมกันลักไปในสภาพเดิมแก่โจทก์ กับใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ12,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 จนกว่าจะคืนรถให้โจทก์หากไม่สามารถคืนรถได้ให้ร่วมกันใช้ราคา 400,000 บาท และให้ร่วมกันคืนเครื่องซักผ้ายี่ห้อฟิลิปในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 23,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ แต่เมื่อประมาณต้นปี 2537 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงร่วมกันประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวใช้ชื่อว่า เจ.บี.ทราเวลเพื่อเปิดรับบริการจองห้องพัก จองตั๋วโดยสารเครื่องบิน รับจองเข้าชมการแสดงต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว โดยโจทก์เป็นผู้ลงแรงดำเนินการ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านสถานที่และค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นโจทก์และจำเลยที่ 1 จะแบ่งปันกันโดยโจทก์ได้รับส่วนแบ่งร้อยละสิบของกำไรเบื้องต้น ส่วนที่เหลือเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ส่วนวันหยุดตกลงว่าโจทก์ได้หยุดวันอาทิตย์ เว้นแต่โจทก์จะสมัครใจมาหารายได้พิเศษเอง โจทก์มาทำงานในวันอาทิตย์เพียง 5 ถึง 6 วัน จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจ่ายเงินเดือนหรือค่าครองชีพให้โจทก์ มีแต่ข้อตกลงประกันรายได้ให้โจทก์ว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500 บาทเท่านั้นจำเลยทั้งสามไม่เคยตกลงมอบส่วนแบ่งร้อยละสิบของรายได้จากการขายและไม่เคยประกันส่วนแบ่งรายได้ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ3,200 บาท ให้โจทก์แต่ประการใด จำเลยทั้งสามไม่เคยค้างชำระเงินจำนวนใด ๆ ตามฟ้อง ภายหลังที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมกันทำธุรกิจท่องเที่ยวได้ 1 ปีเศษ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2538จำเลยที่ 1 ได้รับการติดต่อจากสถานบริการต่าง ๆ ที่โจทก์ได้จองใช้บริการไว้แทนลูกค้าว่าโจทก์มีพฤติกรรมที่เสียหายทางด้านการเงินโดยไม่นำเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้สถานบริการดังกล่าว จนเป็นหนี้สถานบริการหลายแห่งคิดเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องเข้าไปชำระหนี้แทนโจทก์โดยหวังว่าโจทก์จะปรับปรุงตัวเสียใหม่ ประกอบกับโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์สินของโจทก์เงินประกันรายได้กับเงินส่วนแบ่งหักชำระหนี้คืนจำเลยที่ 1 โจทก์ยังคงค้างชำระจำเลยที่ 1 อยู่ประมาณ 70,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้ปรับปรุงพฤติกรรมโดยยังหลอกลวงลูกค้าหลายรายที่มาใช้บริการรับจองห้องพัก ตั๋วโดยสารเครื่องบินและชมการแสดงแล้วไม่นำเงินไปชำระให้สถานบริการต่าง ๆ แต่กลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุให้ลูกค้าที่ชำระเงินได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1จึงจำเป็นต้องมีคำสั่งปิดสำนักงานและถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหุ้นส่วนจำเลยทั้งสามไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ วันที่1 ธันวาคม 2538 ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยทั้งสามที่สำนักงาน มีเพียงโจทก์เท่านั้นที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจท่องเที่ยวจับกุมตัวได้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเนื่องจากมีลูกค้าหลายรายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสามไม่เคยแจ้งหรือให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนส่วนรถยนต์และเครื่องซักผ้า โจทก์เป็นผู้ส่งมอบให้จำเลยที่ 1ด้วยตนเองโดยความสมัครใจเพื่อหักกับหนี้ที่โจทก์ค้างชำระสถานบริการต่าง ๆ อยู่ จำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวไปจากโจทก์จำเลยทั้งสามไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์และเครื่องซักผ้าหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1แล้วยกเหตุขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่เป็นหุ้นส่วนทำกิจการร่วมกัน โจทก์มีพฤติการณ์เสียหายด้านการเงินไม่นำเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้สถานบริการเหล่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระชำระหนี้สินที่โจทก์ก่อขึ้นดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงตัวใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นยังคงหลอกลวงลูกค้าที่มาใช้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนำเงินที่รับจากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหายอยู่อีก เช่นนี้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ก็ยังคงมีอยู่หาได้สิ้นไปเพราะเหตุที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ ซึ่งโจทก์จะได้รับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากการที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วถูกเลิกจ้างก็ต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ความผูกพันที่มีต่อกันในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้าง ค่าครองชีพเงินส่วนแบ่ง เงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องหรือไม่ ต่อไป เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานตามสำนวนแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46, 47 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582, 583 จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ดังกล่าว หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นอันขัดต่อกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
โจทก์อุทธรณ์ต่อมาตามอุทธรณ์ข้อ 2.1.2 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 สั่งปิดงานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2538โดยถือว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์หรือจำเลยเลยว่าจำเลยที่ 1 เคยบอกเลิกจ้างโจทก์ และในเดือนพฤศจิกายน 2538 หลังจากที่จำเลยที่ 1อ้างว่าปิดงานแล้วโจทก์ยังทำงานให้จำเลยที่ 1 อยู่ จึงเป็นการวินิจฉัยขัดต่อกฎหมายและพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เห็นว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นหาได้มีบทกฎหมายใดกำหนดหรือบังคับให้ต้องมีการบอกเลิกจ้างกันอย่างชัดแจ้งทุกกรณีเสมอไปไม่การเลิกจ้างอาจเกิดขึ้นได้โดยพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่พอแสดงได้ว่าเป็นการเลิกจ้างก็ได้ ดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ที่ว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ฉะนั้นข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างใด
โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.1.3 ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในส่วนที่ว่าโจทก์รับเงินค่าบริการจากลูกค้าแล้วไม่นำเงินไปจ่ายให้แก่สถานบริการต่าง ๆ รวมทั้งค่าพาหนะและค่าตั๋วเครื่องบินที่ได้รับจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งจำเลยด้วยกลับนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตนตามทีจำเลยนำสืบโดยจำเลยไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเพื่อที่พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายถึงข้อความเหล่านั้นไว้อันขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีการซักถามพยานไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ในการสืบพยาน คู่ความจะซักถามพยานได้ก็เฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานแล้วเท่านั้น คู่ความหามีสิทธิที่จะซักถาม ถามค้านหรือถามติงพยานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 116(2) และมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การสืบพยานในคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31โดยอนุโลมได้ ฉะนั้นการสืบพยานของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89ที่จำเลยที่ 1 จะต้องถามค้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเพื่อให้พยานโจทก์มีโอกาสได้อธิบายถึงข้อความเหล่านั้นไว้ก่อนที่จะสืบพยานของตนดังที่โจทก์อุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับรถยนต์จิ๊ปและเครื่องซักผ้าว่า โจทก์โอนรถยนต์จิ๊ปและเครื่องซักผ้าให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้หนี้ที่โจทก์ก่อขึ้นขัดต่อข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนนั้นเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยกเอาพยานเอกสารที่จำเลยที่ 1นำสืบมาโต้แย้งเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงไปอีกทางหนึ่งอันจะเป็นประโยชน์แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน