โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมีเจตนาฆ่าขอให้ลงโทษ และริบมีดของกลาง กับให้บวกโทษจำคุกจำเลยที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้
จำเลยให้การว่า ได้ใช้มีดของกลางแทงผู้ตายจริง แต่กระทำไปเพื่อป้องกันตนและรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษกับเคยถูกศาลพิพากษาจำคุก แต่รอการลงโทษไว้จริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 กระทงหนึ่ง จำคุก 20 ปี และผิดตามมาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 100 บาท รวมสองกระทงจำคุก 20 ปี และปรับ 100 บาทมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 15 ปี และปรับ 75 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ริบมีดของกลาง ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยและให้นำโทษที่รอการลงโทษมาบวกในคดีนี้นั้น ปรากฎว่ามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพ.ศ. 2526 ออกมาใช้บังคับ จึงให้ยกคำขอข้อนี้เสีย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บวกโทษที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บวกโทษจำคุก 1 เดือนที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีนายกิจจาอินแพง พวกของจำเลยเองมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนที่จำเลยจะแทงผู้ตายนั้นจำเลยกับผู้ตายได้พูดคุยกันแล้วมีการฟัดเหวี่ยงกันอันเป็นการสอดคล้องกับคำของร้อยตำรวจโทเฉลิมศักดิ์ ชอบธรรมพนักงานสอบสวนที่ว่า ได้สอบถามผู้รู้เห็นเหตุการณ์ได้ความว่าผู้ตายและจำเลยทะเลาะวิวาทกันก่อนประกอบกับได้ความจากนายกิจจาและนายฉลวย มานะชีพว่า ทั้งจำเลยและผู้ตายได้ดื่มสุราไปก่อนเกิดเหตุจึงน่าเชื่อว่า จำเลยและผู้ตายต่างเมาสุราแล้วสมัครใจวิวาทกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ที่จำเลยฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะนายกิจจาตอบศาลว่า จำเลยไม่ได้เมาและไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้นายกิจจาจะเบิกความตอบศาลในตอนสุดท้ายว่า จำเลยไม่เมาสุรา แต่นายกิจจาได้เบิกความว่า จำเลยกับพวกรวม 5 คน ได้ดื่มสุราแม่โขงหมดไปถึง 3 ขวดแบนใหญ่ และดื่มกันจนถึงเวลา 2 นาฬิกา และนายปรีดา ภู่สีเขียว พวกของจำเลยอีกคนหนึ่งที่ดื่มสุราด้วยกันก็ตอบศาลว่า จำเลยเมาสุราบ้าง แต่ไม่ถึงกับครองสติไม่อยู่ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเมาสุราจึงหาผิดไปจากความเป็นจริงไม่ และแม้จะไม่มีพยานปากใดเบิกความโดยตรงว่า จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกัน แต่นายกิจจาพวกของจำเลยเบิกความว่า จำเลยกับผู้ตายได้พูดคุยกันและมีการฟัดเหวี่ยงกันซึ่งจำเลยก็นำสืบรับเข้ามาว่าผู้ตายขอเงินจำเลย เมื่อจำเลยบอกไม่มีผู้ตายก็ผลักอกและถามว่าบ้านมึงอยู่ไหน หลังจากนั้นก็มีการแทงกันตายเช่นนี้ พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่า ก่อนที่จำเลยจะแทงผู้ตาย ได้มีการวิวาทกันก่อน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายเอามีดออกมาแทงจำเลยก่อน จำเลยจึงต้องป้องกันตนจำเลยแย่งมีดมาได้แล้วแทงไปเป็นการกระชั้นชิดและแทงที่เดียว เป็นการป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า จำเลยและผู้ตายเมาสุราสมัครใจวิวาทกันแล้ว จึงเกิดการแทงกันขึ้นจำเลยก็ย่อมอ้างไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตนอันชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
สำหรับโทษที่ศาลล่างกำหนดมานั้น ชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดให้ได้อีก ฟังการที่ศาลอุทธรณ์ให้นำโทษในคดีก่อนที่จำเลยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน แต่รอการลงโทษไว้ มารวมกับโทษในคดีนี้ โดยถือว่าจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526 ก็นเป็นการชอบแล้วเพราะจำเลยกระทำผิดคดีนี้ในระหว่างรอการลงโทษในคดีก่อนถือไม่ได้ว่าโทษในคดีก่อนพ้นไปแล้วก่อนหรือในวันพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันจะมีผลให้จำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.