โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 277, 283 ทวิ, 309, 317, 318, 338
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาว ร. ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาว อ. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนางสาว ร. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่ผู้ร้องทั้งสองจนเสร็จสิ้น
ในคดีส่วนแพ่งจำเลยให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม), 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 309 วรรคหนึ่ง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม), 318 วรรคสาม (เดิม), 338 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากมารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใดกับฐานกระทำชำเราผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราผู้อื่นซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 8 ปี และฐานรีดเอาทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 41 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มกราคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เกิดวันที่ 1 มกราคม 2543 เมื่อเดือนมกราคม 2557 มารดาจำเลยติดต่อผู้เสียหายที่ 2 ไปแสดงเป็นผู้เต้นหางเครื่องในคณะหมอลำของมารดาจำเลย ผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยจึงได้รู้จักกันและสนิทสนมรักกัน ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2557 มารดาจำเลยไปขอหมั้นผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 หมั้นกับจำเลย ฝ่ายจำเลยนำเงินสด 20,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท มาเป็นของหมั้น ตกลงกันว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 2 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ให้แต่งงานกัน แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ยังไม่ได้มีการแต่งงานกัน ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ผู้เสียหายทั้งสองและจำเลยกับมารดาจำเลยได้เจรจายกเลิกการแต่งงานระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 โดยฝ่ายจำเลยไม่ขอคืนของหมั้น และห้ามจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 ติดต่อกันต่อไป สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องข้อ 1.3 ถึงข้อ 1.6 และความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1.8 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง คดีถึงที่สุด
ชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 กับความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ตามฟ้องข้อ 1.7 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเป็นพยาน พยานโจทก์ทั้งสองไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน พยานทั้งสองมาเบิกความมีรายละเอียดต่าง ๆ ได้ความเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 2 เป็นหญิงอายุน้อย ไม่เชื่อว่าจะมาเบิกความมีข้อความที่อาจทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยไม่เป็นความจริง คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟัง พยานโจทก์ดังกล่าวเมื่อรับฟังประกอบกับข้อความที่ผู้เสียหายที่ 2 พูดคุยกับจำเลยทางโทรศัพท์ และทางฝ่ายผู้เสียหายที่ 2 บันทึกไว้ มีข้อความหลายตอนส่อแสดงว่า ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยเคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันด้วยแล้ว ทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งขึ้น เชื่อว่าในวันเกิดเหตุเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งขณะนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปที่บ้านจำเลย แล้วได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จนสำเร็จความใคร่ การกระทำเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นความผิดตามฟ้อง จำเลยนำสืบแต่เพียงลอย ๆ ว่า ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 จำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายไปที่ใดและไม่ได้กระทำความผิดในวันดังกล่าว ง่ายต่อการกล่าวอ้าง ไม่ชัดเจนว่า ในวันเกิดเหตุดังกล่าวนั้นหลังจากซ้อมเต้นหางเครื่องเสร็จแล้ว จำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านจำเลยดังที่จำเลยอ้างจริงหรือไม่ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1.7 โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เมื่อพยานจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว มีการพูดคุยกันเรื่องการแต่งงานของพยาน แต่ตกลงกันไม่ได้ วันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ฝ่ายจำเลยและฝ่ายพยานได้พูดคุยกัน และตกลงยกเลิกการแต่งงานโดยฝ่ายจำเลยจะไม่ขอของหมั้นคืนและห้ามพยานกับจำเลยติดต่อกัน ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2558 จำเลยติดต่อพยานผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์บอกให้พยานไปพบจำเลยพร้อมกับส่งคลิปวิดีโอที่มีภาพพยานมีความสัมพันธ์ทางเพศกับจำเลยมาให้พยานดู โดยขู่ว่าหากพยานไม่ไปพบจำเลยจะนำคลิปวิดีโอดังกล่าวไปเผยแพร่ พยานจึงยอมไปพบจำเลยและมีเพศสัมพันธ์กัน ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 18 กันยายน 2559 จำเลยติดต่อมาหาพยานและข่มขู่พยานเช่นเดิม พยานยอมไปพบจำเลยและมีความสัมพันธ์ทางเพศทุกครั้ง โดยในเดือนกันยายน 2559 นั้น จำเลยยังได้บอกให้พยานนำเงินสด 20,000 บาท และสร้อยคอทองคำที่เป็นของหมั้นไปคืนจำเลย หากคืนแล้วจะลบคลิปวิดีโอนั้นทิ้งไป จำเลยติดต่อพยานทางแอปพลิเคชันไลน์ครั้งสุดท้ายวันที่ 23 กันยายน 2559 การที่จำเลยส่งข้อความดังกล่าวทำให้พยานรู้สึกกลัว ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2559 พยานนำสร้อยคอทองคำที่จำเลยมอบให้เป็นของหมั้นไปคืนจำเลยที่บ้านแล้วรีบกลับ จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้เสียหายที่ 1 ถามพยานว่าสร้อยคอทองคำไปไหน พยานบอกว่านำไปคืนจำเลยแล้วและเล่าเหตุการณ์ให้ผู้เสียหายที่ 1 ฟัง ผู้เสียหายที่ 1 ให้พยานใช้โทรศัพท์สอบถามจำเลยว่าลบคลิปวิดีโอแล้วจริงหรือไม่ การพูดคุยมีการบันทึกเสียงไว้ และมีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความสนับสนุนว่า ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 ฝ่ายพยานและฝ่ายจำเลยเจรจาพูดคุยกันอีกครั้ง ตกลงว่ายกเลิกการแต่งงานกัน จำเลยบอกว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบจะไม่ขอเรียกคืน พยานบอกจำเลยว่าต่อไปนี้ห้ามจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ พยานรู้สึกผิดสังเกตโดยผู้เสียหายที่ 2 บอกว่าในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ต้องไปทำงาน พยานถามแล้วผู้เสียหายที่ 2 บอกว่าครูให้ไปทำรายงาน ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2559 พยานไปตรวจดูทรัพย์สินของพยาน ปรากฏว่าสร้อยคอทองคำที่จำเลยนำมาหมั้นผู้เสียหายที่ 2 หายไป พยานสอบถามผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เล่าให้ฟังว่าจำเลยพูดข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ไปพบจำเลย จำเลยจะส่งคลิปวิดีโอมีภาพจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันให้บุคคลอื่นดู ผู้เสียหายที่ 2 จึงยอมไปพบจำเลย และในวันที่ 2 ตุลาคม 2559 ผู้เสียหายที่ 2 ได้นำสร้อยคอทองคำที่เป็นของหมั้นไปมอบให้จำเลย เนื่องจากจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่นำสร้อยคอไปมอบให้จำเลยจะส่งคลิปวิดีโอดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นดู วันดังกล่าวหลังจากพยานพูดคุยกับผู้เสียหายที่ 2 แล้ว พยานให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับจำเลยว่าได้ถ่ายคลิปวิดีโอมีภาพจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ จำเลยยอมรับว่าได้ถ่ายคลิปวิดีโอดังกล่าวไว้จริง เมื่อจำเลยรับสร้อยคอทองคำคืน จำเลยได้ลบคลิปวิดีโอนั้นไปแล้ว พยานได้บันทึกเสียงการเจรจาพูดคุยนั้นไว้ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยหลังจากตกลงเลิกการแต่งงานได้ความสอดคล้องต้องกัน ได้พิเคราะห์บันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์ แม้ไม่ได้ความว่าได้พูดคุยกันเมื่อใดแน่ แต่จากการพูดคุยก็ได้ความว่า ขณะนั้นจำเลยไปทำงานที่ร้านขายรถ จำเลยเบิกความว่า ในช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 จำเลยทำงานที่บริษัทมดแดงมอเตอร์ จำกัด และได้รับสร้อยคอทองคำที่เป็นของหมั้นคืนไปแล้ว ตรงตามพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความ จำเลยไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการพูดคุยทางโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นมีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยตลอด ดังนี้ เมื่อการติดต่อระหว่างผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยหลังจากตกลงเลิกแต่งงานกันมีลักษณะที่ความถี่ห่างไม่ได้สม่ำเสมอต่อเนื่องกันฉันผู้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวทั่วไป กรณีเป็นไปได้ว่าเมื่อฝ่ายผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยตกลงเลิกการแต่งงานระหว่างผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยแล้วโดยฝ่ายจำเลยไม่ขอรับสร้อยคอทองคำที่เป็นของหมั้นคืน ต่อมาฝ่ายจำเลยอาจมีความจำเป็นทางการเงินหรือนึกเสียดายอยากได้สร้อยคอทองคำที่เป็นของหมั้นคืน จำเลยจึงวางแผนการด้วยการนำเอาเรื่องที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 เคยมีเพศสัมพันธ์กันมาข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ออกไปพบจำเลย หากไม่ออกไปพบจำเลยจะเอาเรื่องที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันไปบอกเผยแพร่แก่บุคคลอื่นจนผู้เสียหายที่ 2 กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชื่อเสียงของตนจึงออกไปพบจำเลย จำเลยก็ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยก็จะนำเรื่องที่จำเลยเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 2 รวมถึงเรื่องที่ได้มีเพศสัมพันธ์กันต่อมาและที่จะเกิดขึ้นต่อไปข่มขืนใจให้ผู้เสียหายที่ 2 นำสร้อยคอทองคำของหมั้นไปคืนจำเลยก็เป็นไปได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยน่าจะไม่ใช่บุคคลที่มีความประพฤติเรียบร้อยมากนัก เชื่อว่าจำเลยได้นำเอาเรื่องที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 เคยมีเพศสัมพันธ์กันมาเป็นเหตุข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ออกไปพบจำเลย หากไม่ออกไปพบจำเลยจะเอาเรื่องที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันนั้นไปเผยแพร่แก่บุคคลอื่นจนผู้เสียหายที่ 2 กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชื่อเสียงของตนจึงออกไปพบจำเลย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เป็นความจริง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นตามฟ้องข้อ 1.7 จำเลยนำสืบแต่เพียงลอย ๆ ว่า ไม่เคยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ข้ออ้างเรื่องจำเลยไปสอบเป็นครู สถานที่สอบก็อยู่ไม่ไกลกันมากนักและน่าจะไม่ได้สอบทั้งวัน พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้อง ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ชัดเจนเสียทีเดียวว่าจำเลยได้พรากโดยการพาผู้เสียหายที่ 2 แยกไปยังที่ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพรากผู้เยาว์ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ตามฟ้องข้อ 1.5 เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เองเบิกความว่า หลังจากฝ่ายผู้เสียหายที่ 1 กับฝ่ายจำเลยตกลงเลิกการแต่งงานระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยแล้ว พยานรู้สึกผิดสังเกตโดยผู้เสียหายที่ 2 บอกว่าช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์จะต้องไปทำงาน แต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นวันจันทร์ โดยจำเลยเบิกความว่าวันดังกล่าวจำเลยเดินทางไปทำงานที่อำเภอสว่างแดนดิน เสร็จแล้วจำเลยเดินทางไปทำงานต่อที่อำเภอกุมภวาปี โดยจำเลยมีนาย ห. มาเบิกความสนับสนุนว่า วันดังกล่าวพยานว่าจ้างจำเลยไปแสดงดนตรีเสร็จงานเวลาประมาณ 15 นาฬิกา มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังจนแน่ใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องข้อ 1.5 ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันกับการกระทำความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมา และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยให้ได้ นอกจากนี้สำหรับความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1.8 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบังอาจข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำที่จำเลยมอบให้ไว้แก่ผู้เสียหายที่ 1 โดยขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ต้องการให้จำเลยลบคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 2 นำสร้อยคอทองคำไปคืน หากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่มีภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นดู อันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหายที่ 2 โดยการนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ เรื่องคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 นั้น ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยนำคลิปวิดีโอที่จำเลยถ่ายไว้ให้พนักงานสอบสวนดู และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า เหตุที่พยานไม่ได้นำคลิปวิดีโอดังกล่าวให้มารดาและพนักงานสอบสวนดู เนื่องจากเมื่อพยานได้รับคลิปวิดีโอแล้วพยานได้ลบทิ้งไป ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงไม่มีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยาน ได้ตรวจดูบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์ ก็ไม่มีข้อความตอนใดที่จำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ถ่ายคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ของคนทั้งสองไว้ หรือมีคลิปวิดีโอดังกล่าวอยู่จริงโดยชัดเจน ดังนี้เมื่อได้ความว่า แต่เดิมความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 เริ่มต้นก็มีการสู่ขอหมั้นหมายกันโดยถูกต้องตามประเพณีด้วยดี ดังนั้น แม้จะมีการล่วงละเมิดได้เสียกันก่อนก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องไปบันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์กันไว้ จนบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีคลิปวิดีโอนั้นเผยแพร่ไป ข้อที่อ้างว่าจำเลยถ่ายคลิปวิดีโอเป็นภาพการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 และมีคลิปวิดีโอนั้นไว้ยังมีแต่ความเลื่อนลอย เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากการที่จำเลยแต่งเรื่องคลิปวิดีโอขึ้นมาเองเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายที่ 2 ที่มีเรื่องเสื่อมเสียเกิดขึ้น เป็นทำนองว่าจำเลยมีหลักฐานเพื่อนำไปเผยแพร่แสดงแก่บุคคลอื่นอยู่ในมือ ทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้นก็เป็นได้ การที่จำเลยตอบผู้เสียหายที่ 2 ว่าลบภาพไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปยืนยันว่ามีคลิปวิดีโอซึ่งมีภาพดังกล่าวอยู่จริง การตอบบ่ายเบี่ยงไปเช่นนั้นรวมถึงการตอบว่าโทรศัพท์หาย เครื่องพัง น่าจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปคาดคั้นจำเลย จำเลยก็ตอบแชเชือนไปมากกว่า กรณีอาจเป็นไปได้ว่าไม่มีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 นั้นไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น เป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1.8 อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 ได้มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวกันพันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชกตามที่พิจารณา ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 และมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 และมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับและให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 337 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามฟ้องข้อ 1.5 ให้ยกฟ้อง สำหรับการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1.8 เป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษตามความผิดฐานอื่นทุกกระทง เป็นจำคุกรวม 35 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4