โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มิถุนายน2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยชำระแก่ศาลแทนในนามโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 570,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นหน่วยงานของรัฐ ร้อยตำรวจโทหรือพันตำรวจตรีสิทธานต์ และร้อยตำรวจเอกหรือพันตำรวจตรีณธกรหรือพัชรธนพล เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดของจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี โดยร้อยตำรวจโทสิทธานต์ดำเนินการสอบสวนคดีที่นายภานุวัฒน์ และนายเกียรติกุล ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนายภานุวัฒน์ให้ถ้อยคำว่านาย ส. ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อและนามสกุลคล้ายกับโจทก์เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดด้วย แต่ร้อยตำรวจโทสิทธานต์เห็นว่าผู้เสียหายไม่มายืนยันและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอจึงไม่ดำเนินคดีโจทก์ ต่อมาร้อยตำรวจโทสิทธานต์ย้ายไปรับราชการที่อื่นและมีร้อยตำรวจเอกณธกรดำเนินคดีต่อแล้วได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ให้ดำเนินคดีกับนาย ส. จากนั้นร้อยตำรวจเอกณธกรดำเนินการสอบสวนต่อและขออนุมัติจากศาลชั้นต้นออกหมายจับโจทก์ โจทก์ถูกจับกุมวันที่ 1 ธันวาคม 2559 และฟ้องต่อศาลชั้นต้นวันที่ 2 สิงหาคม 2561 คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าร้อยตำรวจเอกณธกรเป็นพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนและดำเนินคดีโจทก์โดยมิชอบ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนร้อยตำรวจโทสิทธานต์มิได้มีส่วนในการกระทำความผิด โจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างทนายความและค่าเช่าหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี มีหนังสือแจ้งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา คือ นาย ส. และการฟ้องคดีจะเป็นอำนาจและดุลพินิจของพนักงานอัยการก็ตาม แต่ร้อยตำรวจเอกณธกรพยานจำเลยก็เบิกความว่า ขอออกหมายจับโจทก์ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี โดยใช้คำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานีประกอบการขอออกหมายจับ เนื่องจากมีการขอออกหมายจับโจทก์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลจังหวัดธัญบุรียกคำร้องขอ เนื่องจากเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งให้นำคำพิพากษาดังกล่าวมาประกอบเพื่อการขอออกหมายจับครั้งนี้ การขอออกหมายจับโจทก์ครั้งนี้เนื่องจากมีชื่อโจทก์ตรงกับคำสั่งของพนักงานอัยการโดยไม่ได้ค้นข้อมูลทะเบียนราษฎรว่ามีบุคคลอื่นที่มีชื่อใกล้เคียงกับโจทก์หรือไม่ ประกอบกับไม่ได้นำรูปในข้อมูลทะเบียนราษฎรของโจทก์ให้ผู้เสียหายนายภานุวัฒน์ และนายเกียรติกุลดู จะเห็นได้ว่า การขอให้ออกหมายจับบุคคลใดย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกออกหมายจับ ดังนั้นร้อยตำรวจเอกณธกร พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าโจทก์กระทำผิดจริงซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบรัดกุม มิให้เกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นที่แน่ใจว่าโจทก์เป็นบุคคลเดียวกับคนร้ายที่ได้มาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ร้อยตำรวจเอกณธกรไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนว่าโจทก์เป็นบุคคลเดียวกับคนร้ายหรือไม่อย่างน้อยที่สุดก็ควรได้จัดให้ผู้เสียหายหรือพยานชี้ภาพถ่ายโจทก์ที่ปรากฏดูว่าใช่คนร้ายหรือไม่ก่อนที่จะขอให้ออกหมายจับต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2561 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4194/2561 ของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าจ้างทนายความและค่าเช่าหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นการกระทำเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์จากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่ร้อยตำรวจเอกณธกรทำละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าจ้างทนายความและค่าเช่าหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวส่วนละ 150,000 บาท เพราะคดีนี้มีโทษถึงประหารชีวิตและศาลตีราคาหลักประกันถึง 1,000,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 570,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มิถุนายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ