โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 414,256 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 2,105,576.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 949,618.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,946.40 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแย้ง (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560) ต้องไม่เกิน 24,590.26 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 448,672.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 414,256 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (26 กันยายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มีนายสมชาย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน จำเลยประกอบกิจการให้เช่าห้องพัก ชื่ออาคาร ส. มีนายสุทธิ นายวิโรจน์ และนายคเณตร์ เป็นกรรมการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำเลยว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงห้องพักของอาคาร ส. ชั้นที่ 2 ถึงที่ 4 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์ทำใบเสนอราคาค่าปรับปรุงห้องพักชั้นที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 556,600 บาท และวันที่ 6 มีนาคม 2560 โจทก์ทำใบเสนอราคาค่าปรับปรุงห้องพักชั้นที่ 2 ถึงที่ 4 รวมค่าดำเนินการและกำไรเป็นเงินทั้งสิ้น 985,780 บาท วันที่ 17 มีนาคม 2560 โจทก์ทำใบสั่งจ้างไปยังจำเลยระบุค่าจ้างเป็นเงิน 985,780 บาท โจทก์เริ่มเข้าทำงานวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างสัญญาโจทก์ขอเบิกเงินจากจำเลย 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 จำนวน 200,000 บาท วันที่ 29 มีนาคม 2560 จำนวน 300,000 บาท และวันที่ 27 เมษายน 2560 จำนวน 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 750,000 บาท วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 โจทก์มีหนังสือขอเบิกเงินจากจำเลย 200,000 บาท และวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โจทก์มีหนังสือขอเบิกเงินจากจำเลย 35,780 บาท และ 178,476 บาท รวมเป็นเงิน 414,256 บาท วันที่ 16 สิงหาคม 2560 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างที่เหลือทั้งหมด วันที่ 12 กันยายน 2560 โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระเงินส่วนที่ค้าง 414,256 บาท ภายใน 7 วัน วันที่ 18 กันยายน 2560 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง กับขอให้โจทก์คืนเงินสำรองค่างานและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 591,171 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันรับหนังสือ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยตามสัญญาจ้างทำของ โจทก์ผู้รับจ้างย่อมมีหน้าที่ทำการงานจนสำเร็จให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ในกรณีนี้คือการปรับปรุงห้องพักให้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการเข้าอยู่อาศัยของลูกค้าในกิจการห้องพักให้เช่าของจำเลย ส่วนสินจ้างอันพึงใช้ให้ เมื่อตามสำเนาใบเสนอราคาและใบสั่งจ้างมิได้มีข้อสัญญากำหนดว่าจะส่งรับมอบการงานที่ทำเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ เพื่อการงานแต่ละส่วนในเวลาที่รับเอาส่วนนั้น จำเลยจึงพึงชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยรับมอบการงานที่ทำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 ทั้งในการขอเบิกเงินแต่ละครั้ง โจทก์ยังระบุว่า ขอเบิกเงิน (สำรอง) ซึ่งมีความหมายชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการขอรับเงินล่วงหน้าเผื่อเหลือเผื่อขาดก่อนที่จะทำการงานเสร็จ ไม่อาจแปลความของคำว่าเงินสำรองเป็นค่าจ้างตามงวดงานได้ ที่โจทก์ระบุในหนังสือว่าโจทก์ดำเนินงานปรับปรุงแล้วเสร็จบางส่วน จึงขอเบิกเงิน (สำรอง) ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นงานประเภทใดบ้างที่ทำเสร็จและได้เนื้องานเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 คิดเป็นเงิน 200,000 บาท วันที่ 29 มีนาคม 2560 คิดเป็นเงิน 300,000 บาท และวันที่ 27 เมษายน 2560 คิดเป็นเงิน 250,000 บาท ลำพังภาพถ่ายสภาพห้องพักขณะปรับปรุง ยังไม่เพียงพอต่อการรับฟังว่าเป็นการงานที่ทำเสร็จ กับได้ความอีกว่า ในการทำงานโจทก์ให้นายกรณ์ รับเหมาช่วงงานไปทำต่ออีกทอดหนึ่ง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์โดยนายสมชายหรือลูกจ้างของโจทก์เข้าทำการงานปรับปรุงห้องพักเอง โดยที่โจทก์มิได้มอบหมายให้ลูกจ้างของโจทก์คนใดไปควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของนายกรณ์ คงเป็นฝ่ายจำเลยที่มอบหมายให้นางสาวขนิษฐา และนางสาวพิมพาพรรณ ลูกจ้างของจำเลยผู้ดูแลอาคาร ส. คอยดูแลการทำงาน นายกรณ์ซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานเบิกความอีกว่า นายสุทธิไปตรวจความเรียบร้อยเกือบทุกวัน บางครั้งเป็นพนักงานของจำเลยชื่อเอกับแก้วที่เข้าไปดูงานและสั่งให้พยานแก้ไข ไม่ปรากฏจากคำของนายกรณ์ว่านายสมชายเข้าไปดูงานในแต่ละวันหรือเป็นครั้งคราวด้วยเลย คำของนายสมชายที่เบิกความลอย ๆ และขัดกับข้อความในเอกสารซึ่งนายสมชายทำขึ้นเอง จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินที่โจทก์ขอเบิกและรับไปจากจำเลย 3 ครั้ง รวม 750,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยสำรองจ่ายล่วงหน้าเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน มิใช่เป็นเงินค่าจ้างตามส่วนของงานที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าซึ่งโจทก์ทำเสร็จและจำเลยรับมอบการงานส่วนนั้นไว้แล้ว ที่นายสมชายเบิกความอีกว่าวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 พยานดำเนินงานได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และขอเบิกเงินครั้งที่ 4 จำนวน 200,000 บาท แต่จำเลยผัดผ่อนโดยขอให้พยานทำงานไปก่อนค่อยเบิกตอนงานจบทีเดียว เมื่อพยานทำงานเสร็จเรียบร้อย วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 พยานจึงขอเบิกเงินครั้งสุดท้ายตามจำนวนที่เหลือ 35,780 บาท และงานเพิ่ม 178,460 บาท รวมเป็นเงิน 414,256 บาท และวันที่ 4 สิงหาคม 2560 พยานทำหนังสือส่งมอบพื้นที่ให้แก่จำเลยตามที่ลูกจ้างของจำเลยแจ้งให้ทำ โจทก์ยังคงไม่มีรายละเอียดของงานตามที่อ้าง ภาพถ่ายพื้นห้อง 8 ภาพ และภาพถ่ายหน้าต่าง 5 ภาพ ไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าโจทก์ปรับปรุงห้องพักในชั้นที่ 2 ถึงที่ 4 แล้วเสร็จไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน ส่วนพยานจำเลยที่มีนางสาวขนิษฐาเบิกความว่า โจทก์ทำงานยังไม่เรียบร้อยและไม่แล้วเสร็จ สีที่ทาก็พองและหลุดล่อน พยานรายงานให้นายสุทธิและนายวิโรจน์ทราบ กับแจ้งให้โจทก์มาแก้ไข โจทก์ส่งช่างมาแก้ไขแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ นางสาวขนิษฐาสามารถเบิกความอธิบายในรายละเอียดของงานที่ไม่เสร็จและไม่เรียบร้อยได้เป็นอย่างดี กับได้สำรวจ ถ่ายภาพและทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานชัดเจน และนางสาวขนิษฐาได้ทำหนังสือโต้ตอบนายสมชายถึงงานที่ทำไม่เรียบร้อย โดยปรากฏในเอกสารว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นายสมชายลงชื่อรับรองเอกสารเรื่องที่โจทก์ขอเบิกสีจากจำเลยไปใช้หลายรายการ เพื่อให้จำเลยใช้เป็นหลักฐานส่งไปให้โจทก์และหักเงินระหว่างกัน ทั้งนางสาวขนิษฐายังจดบันทึกวันเวลาที่โจทก์ส่งคนงานเข้าไปแก้ไขงานทาสี ซึ่งคนงานของโจทก์เข้าไปทำงานจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ทำให้เห็นได้ว่าขณะโจทก์มีหนังสือส่งมอบพื้นที่ให้แก่จำเลยในวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ห้องพักไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้ดีดังโจทก์อ้าง และจำเลยยังมีนายมานิต กรรมการบริษัท น. ซึ่งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง เบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 บริษัท น. โดยพยานได้รับการติดต่อจากจำเลยให้เข้าไปตรวจรับงานปรับปรุงห้องพักในอาคาร ส. ต้นเดือนสิงหาคม2560 จำเลยแจ้งให้พยานไปตรวจสอบงานตามหนังสือส่งมอบพื้นที่ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ของโจทก์ พยานใช้เวลา 5 วัน ในการตรวจสอบงานปรับปรุงห้องพักในชั้นที่ 2 ถึงที่ 4 ในขณะที่ยังมีช่างสีของโจทก์ 3 ถึง 4 คน เข้าไปแก้ไขงานสีที่หลุดล่อนและพองตัว วันที่ 29 สิงหาคม 2560 พยานทำหนังสือแจ้งรายละเอียดของงานแต่ละชั้นโดยงานที่ใช้ไม่ได้ มีงานสีต้องทาใหม่ ผนังห้องต้องรื้อและทำใหม่ วงกบประตูเอียงและเบี้ยว งานปรับปรุงที่โจทก์ทำและใช้งานได้จริงคิดเป็นเงิน 161,253.60 บาท ส่วนงานเพิ่มเติมคิดเป็นเงิน 87,800 บาท รวมเป็นเงิน 249,053.60 บาท ต่อมาจำเลยให้บริษัท น. เสนอราคาแก้ไขซ่อมแซมงานส่วนที่โจทก์ทำไว้ไม่เรียบร้อยและใช้การไม่ได้ วันที่ 15 มกราคม 2561 พยานเสนอราคาแก้ไขซ่อมแซมงานชั้นที่ 2 รวม 6 รายการ เป็นเงิน 201,250 บาท ชั้นที่ 3 รวม 6 รายการ เป็นเงิน 193,200 บาท และชั้นที่ 4 รวม 6 รายการ เป็นเงิน 193,200 บาท ใช้เวลาทำงาน 60 วัน บริษัท น. ทำงานเสร็จและได้รับค่าจ้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย 628,785.50 บาท หากงานปรับปรุงห้องพักที่โจทก์ดำเนินการและส่งมอบให้จำเลยเสร็จสมบูรณ์สามารถใช้การได้ดี ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องว่าจ้างบริษัท น. เข้าไปซ่อมแซมแก้ไขซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอีก ทั้งข้อที่นายมานิตอ้างว่างานสีใช้ไม่ได้ทั้งหมดต้องทำใหม่ จำเลยมีนายภานุพล พนักงานฝ่ายเทคนิคของบริษัท ต. ซึ่งจำหน่ายสีทุกชนิด เบิกความว่า เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2560 บริษัท ต. ให้พยานเข้าไปตรวจสอบสีของบริษัทที่จำเลยใช้ทาภายในอาคาร ส. ที่เกิดปัญหาพองตัวและหลุดล่อน พยานตรวจพบปัญหาว่าเกิดจากการทาสีไม่ถูกต้องตามกรรมวิธีโดยช่างไม่ได้ขัดล้างทำความสะอาดผนังเก่าให้เรียบร้อยก่อนและไม่ได้ทาสีรองพื้นปูนเก่า ถ้าทำถูกต้องสีจะคงทนนานอย่างน้อย 10 ปี สอดคล้องกับที่นางสาวขนิษฐาจดบันทึกเหตุการณ์ที่โจทก์ส่งคนงานเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องสีพองตัวในช่วงเดือนสิงหาคม 2560 และแม้มีการแก้ไขแล้วสีก็ยังพองตัว ส่วนงานผนังห้องที่โจทก์ทำไว้แต่ยังคงมีเสียงเล็ดลอด นายมานิตก็สามารถเบิกความอธิบายได้ว่าเป็นเพราะโจทก์ใช้โครงเหล็กชุบสังกะสีที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผนังห้องไม่แข็งแรง จึงต้องรื้อและทำใหม่ คำของนายมานิตมีน้ำหนักในการรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์ปรับปรุงห้องพักอาคารสุทธิแมนชั่น 2 ไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างตามสัญญาจากจำเลย อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ที่โจทก์ไม่ประสงค์เข้าทำงานต่อและต่างฝ่ายต่างมีหนังสือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนแต่ได้รับการปฏิเสธ ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ต้องคืนเงิน 750,000 บาท แก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องใช้เงินตามควรแห่งค่าการงานอันโจทก์ได้กระทำให้ ตามที่รับฟังได้ว่างานปรับปรุงห้องพักที่โจทก์กระทำให้แก่จำเลยใช้งานได้จริงคิดเป็นเงิน 249,053.60 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม เมื่อหักกลบกันแล้ว โจทก์ต้องคืนเงิน 500,946.40 บาท แก่จำเลย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่โจทก์รับไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง และมาตรา 7 แต่จำเลยฟ้องแย้งขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับเงินไปจากจำเลยครั้งสุดท้ายและเป็นคุณแก่โจทก์ จึงให้ตามที่จำเลยขอ สำหรับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่จำเลยพึงมีสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคท้าย เห็นว่า โจทก์ทำการงานปรับปรุงห้องพักให้จำเลยไม่เสร็จตามสัญญา จึงชอบที่จำเลยจะเอาการงานนั้นไปให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งโจทก์จะต้องเสี่ยงความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 594 เมื่อได้ความว่าจำเลยจ้างบริษัท น. แก้ไขซ่อมแซมงานส่วนที่โจทก์ทำไว้ไม่เรียบร้อยและใช้การไม่ได้ โดยจำเลยเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 628,785.50 บาท แต่จำเลยเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนนี้จากโจทก์ 148,672.20 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดให้ตามจำนวนดังกล่าว ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการให้เช่าห้องพัก จำเลยฎีกาขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์ที่เป็นค่าเช่าอันจะพึงได้รับจากการให้เช่าห้องพักของผู้ว่าจ้าง มิใช่เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้หรือผิดสัญญาจ้างทำของ หากแต่เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ เจ้าหนี้จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาแล้วว่าจำเลยมีความประสงค์หรือมีกำหนดเวลาว่าจะนำห้องพักที่ปรับปรุงเสร็จออกให้เช่าเมื่อใดและมีอัตราค่าเช่าเท่าใด ที่นายวิโรจน์และนางสาวขนิษฐาเบิกความว่า อาคารชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 4 มีห้องพักชั้นละ 6 ห้อง อัตราค่าเช่าต่อเดือนชั้นที่ 2 และที่ 3 ห้องละ 11,500 บาท ชั้นที่ 4 ห้องละ 12,000 บาท ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุน และนางสาวขนิษฐาเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ว่า ปัจจุบันยังไม่มีผู้เช่าห้องพักชั้นที่ 2 ถึงที่ 3 ทั้ง ๆ ที่ได้ความว่าบริษัท น. ส่งมอบงานแก้ไขซ่อมแซมห้องพักชั้นที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 และชั้นที่ 4 ในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ประสงค์ที่จะนำห้องพักออกให้เช่าในทันทีที่ปรับปรุงห้องพักเสร็จและจำเลยมิได้บอกกล่าวเรื่องนี้แก่โจทก์ กรณีฟังไม่ได้ว่าก่อนหรือขณะทำสัญญาโจทก์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นว่าจำเลยจะนำห้องพักออกให้เช่าอย่างแน่นอนชัดเจนแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..."ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 649,618.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 500,946.40 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในต้นเงิน 148,672.20 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลทั้งในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท