คู่ความคือ โจทก์ จำเลย และผู้ร้องสอด รวมทั้ง 3 คนนี้เป็นบุตรนายพริ้ง นางทา ไกลบาป ชั้นเดิมนายพริ้ง นางทา โอนที่ดินโฉนดที่ 2351และ 2415 ในตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีให้แก่นายถิว (ผู้ร้องสอด) คนเดียว ต่อมานายพริ้งตาย ใน พ.ศ. 2492 นางทาฟ้องขอเรียกที่ 2 แปลงนี้คืนจากนายถิว อ้างเหตุนายถิวประพฤติเนรคุณ ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดจันทบุรี เลขดำที่ 67/2492 แดงที่ 59/2492 ครั้นวันที่ 7 มกราคม 2494 นางทาถึงแก่กรรมลงในระหว่างความ นายเพิ่ม ไกลบาป (จำเลยคดีนี้) เข้ารับมรดกความดำเนินคดีต่อมา คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2495 ฟังว่านายถิวประพฤติเนรคุณ ให้เพิกถอนการให้เฉพาะที่ยังเป็นส่วนของนายถิวคืนให้นางทาทั้ง 2 โฉนด คู่ความได้ฟังคำพิพากษาฎีกานี้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2496
แล้วโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2496 ขอแบ่งมรดกของนางทา คือส่วนกรรมสิทธิ์ 2 โฉนด ของนางทาที่ได้คืนมารวมทั้งเงินค่าประมูลทรัพย์ระหว่างความในคดีโน้นอีก 1,000 บาท
จำเลยให้การตัดฟ้องว่า ขาดอายุความ และนางทาได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้จำเลย ขอให้ยกฟ้อง หรือหากจะต้องแบ่งก็ขอให้หักค่าที่จำเลยออกทำศพให้นางทาไป 3,000 บาทออกเสียก่อน
นายถิว ร้องสอดขอรับส่วนมรดกด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาฟังว่า นางทาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้จำเลยคนเดียว บุตรอื่นจึงไม่มีทางได้ พิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ยืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ทางพิจารณาฟังได้มั่นคงว่า นางทาทำพินัยกรรม ลงวันที่ 4 กันยายน 2493 ระบุว่า
ข้อ 1. ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่ความตายไปแล้ว บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่ และที่จะเกิดในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อในพินัยกรรมนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สิน ตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ
1. ที่ดินว่างเปล่า 1 แปลง โดยทิศเหนือติดกับที่นายถิว ทิศใต้ ฯลฯ
ข้อ 2. ข้าพเจ้าขอให้มอบพินัยกรรมฉบับนี้แก่นายเพิ่ม ไกลบาป และขอตั้งให้นายเพิ่ม ไกลบาป เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ
(ต่อไปไม่มีความสำคัญเกี่ยวด้วยข้อวินิจฉัย)
เมื่อได้อ่านข้อความรวมกันทั้งหมดแล้ว คงได้ความว่านางทาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกกวาดกองให้แก่นายเพิ่ม ไกลบาป ทรัพย์นั้นมิได้จำกัดเฉพาะแต่ที่ดินว่างเปล่าแปลงเดียวที่ระบุในข้อ 1.1 (หรือข้อ 1. วรรค 2) กินถึงทรัพย์ทั้งหมดที่นางทามีอยู่แล้วขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีต่อไปภายหน้าตามที่พรรณาไว้ครบถ้วนในวรรคแรกด้วย
พินัยกรรมนี้จึงตัดบุตรคนอื่นมิให้ได้รับมรดกของนางทา ย่อมตกได้นายเพิ่ม จำเลยผู้รับพินัยกรรมคนเดียว สมจริงดังความเห็นของสองศาลที่วินิจฉัยต้องกันมา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
เหตุนี้ จึงพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนจำเลย 75 บาท