โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง และเป็นการกระทำกรรมเดียว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 7 จำคุก 1 เดือน และปรับ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 20 วัน และปรับ 8,000 บาท พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยเป็นพนักงานของบริษัทกานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ต่อมาโอนย้ายมาเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2558 โจทก์มอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อ manutsanuxxxx@xxxairline.com ให้แก่จำเลยสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 จำเลยยื่นใบลาออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ และทำงานวันสุดท้ายวันที่ 15 กันยายน 2560 ครั้นวันที่ 22 กันยายน 2560 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันเวลาตามฟ้องที่เหตุเกิด จำเลยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ manutsanuxxxx@xxxairline.com ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ my_namexxxx@hotmail.com ของจำเลย ทั้งจำเลยไปทำงานที่สายการบินวิสดอม แอร์เวย์ และยื่นฟ้องโจทก์เรียกค่าจ้าง หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้รับค่าจ้างจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยได้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อ manutsanuxxxx@xxxairline.com เข้าถึงซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย และจำเลยส่งออกซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ อันเป็นข้อมูลลับเกี่ยวกับการปฏิบัติติงานการบินพาณิชย์ โดยส่งออกไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยชื่อว่า my_namexxxx@hotmail.com โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งได้ความจากจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า จำเลยทราบดีว่าโจทก์ห้ามมิให้ส่งข้อมูลที่จำเลยเข้าถึงและส่งไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของจำเลย เผยแพร่ไปสู่บุคคลภายนอก ให้ใช้ได้เฉพาะภายในบริษัทโจทก์เท่านั้น แสดงว่า ข้อมูลคอมพิวตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่โจทก์หวงแหน ห้ามมิให้บุคคลอื่นได้เข้าถึง ดังนี้ การกระทำของจำเลยซึ่งลาออกจากบริษัทโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยยังเข้าไปในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และส่งไฟล์ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการบินพาณิชย์ อันเป็นความลับของโจทก์ ไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 7 และมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า กล่องจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อ manutsanuxxxx@xxxairline.com จำเลยเป็นผู้กำหนดรหัสด้วยตนเอง มีเพียงจำเลยเท่านั้นที่รู้รหัสผ่าน มาตรการป้องกันนั้นจึงมิใช่ป้องกันจำเลยเข้าไปในกล่องจดหมาย จึงไม่ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น เห็นว่า ได้ความจากนายพรชรัส พยานโจทก์ ซึ่งเป็นพนักงานตำแหน่งไอที เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในครั้งแรกพนักงานฝ่ายไอทีสร้างจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา จะมอบรหัสในการเข้าใช้แก่จำเลย จากนั้นจำเลยจะต้องเปลี่ยนแปลงรหัสในการเข้าใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะเปลี่ยนรหัสแล้ว พนักงานไอทีทุกคนก็สามารถเข้าถึงจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่มอบให้จำเลยใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้รหัส แสดงว่า จำเลยหาใช่ผู้รู้รหัสและเข้าใช้งานได้แต่เพียงผู้เดียวไม่ ดังนั้น องค์ประกอบความผิดข้อที่ว่า ที่มีมาตรการป้องกันโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน จึงหมายความว่า เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ได้มีการกำหนดวิธีการเข้าสู่ระบบไว้โดยเฉพาะแล้ว หากผู้ไม่มีสิทธิเช่นจำเลยนี้ซึ่งได้ลาออกจากบริษัทโจทก์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้เข้าไปสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะสามารถทำได้อีกต่อไป ผู้นั้นก็ย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ได้ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือไม่ เห็นว่า ตามนิยามศัพท์ มาตรา 3 บัญญัติว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ปรากฏว่านิยามศัพท์คำว่า "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ได้ให้ความหมายคำว่า "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" ไว้ว่า "ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือโทรสาร" ดังนั้น ความหมายจึงรวมไปถึง จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน