โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา 9, 10, 104, 121 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขดำที่อ.3414/2560 และจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.513/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา 10, 104, 121 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท ฐานจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม (ที่ถูก ที่บิดเบือน) หรือเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 12 เดือน และปรับ 120,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง, 104, 121 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ 70,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์กระทำความผิดลักษณะเดียวกันหลายคดี และส่อไปในทางหลอกลวงแสวงหาประโยชน์จากประชาชนเพื่อตนเองหรือผู้อื่นในลักษณะเป็นขบวนการ แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะอายุมากแล้วและได้ทำงานรับใช้สังคมมีคุณงามความดีมาก่อนดังที่จำเลยที่ 2 อ้างในคำแก้อุทธรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3414/2560 หมายเลขแดงที่อ.1036/2562 และจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.513/2561 หมายเลขแดงที่ อ.1703/2562 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสองเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการและการรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย ป. ที่ห้องอาหารสนามม้านางเลิ้ง วันที่ 25 และ 26พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสองเข้าร่วมในพิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานและประสาทปริญญาบัตร ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม ม. กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ให้เปิดเว็บไซต์ แล้วจำเลยที่ 1 นำข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ป. ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องเป็นภริยาของ Dr. R.วันที่ 23 พฤษภาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายเสกสรร กับพวกว่า นายสวัสดิ์ กับพวกจัดตั้งมหาวิทยาลัย ส. โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและมีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยการแจกปริญญากิตติมศักดิ์และตำแหน่งทางวิชาการพร้อมกับมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนแล้วแยกสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษเป็น 3 คดี คือ กรณีของมหาวิทยาลัย ส. มหาวิทยาลัย ส. 2 และ มหาวิทยาลัย ป. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า มหาวิทยาลัย ป. ไม่ได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดฐานตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ก่อน โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า การใช้คำว่ามหาวิทยาลัย กับการมอบกระดาษที่เขียนข้อความว่า ปริญญาบัตรโดยไม่มีการเรียนการสอน การวิจัย ไม่มีหลักสูตรและสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย อันจะต้องขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย กรณีจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้คำจำกัดความคำว่า "สถาบันอุดมศึกษาเอกชน" หมายความว่า สถานศึกษาของเอกชนที่ให้การศึกษาระดับปริญญาแก่บุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป และมาตรา 8 บัญญัติว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้น สถานศึกษาของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาในระดับปริญญา ทำการสอนการวิจัยและการอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แม้จะยังไม่มีการเรียนการสอน สถานศึกษาเอกชนนั้นย่อมมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แล้วทั้งตามมาตรา 9 ยังแบ่งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนออกเป็น 3 ประเภท คือ มหาวิทยาลัยสถาบัน และวิทยาลัย และในวรรคสอง บัญญัติว่า "ลักษณะของมหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาลัย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งตามกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของมหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2549 ข้อ 1.มหาวิทยาลัยมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ 1. ให้การศึกษา และส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา หรือหลายกลุ่มสาขาวิชา 2. ให้การศึกษาเพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญาปริญญาทุกชั้น และประกาศนียบัตรบัณฑิต 3. มีภารกิจด้านการสอน การผลิตบัณฑิต การวิจัยการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทหนึ่งที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กล่าวคือ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งได้ความจากนายสมบัติ และนางยินดี พยานโจทก์ว่า ในวันที่ 10 เมษายน 2556 จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมที่ห้องอาหารสนามม้านางเลิ้งกับพยานทั้งสองและในวันดังกล่าวมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้จบการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ โดยเฉพาะนางยินดีเบิกความยืนยันว่า พยานรู้จักมหาวิทยาลัย ป. เนื่องจากนายสมบัติชักชวนให้ไปรับปริญญากิตติมศักดิ์ ที่สนามกอล์ฟกัสซัน จังหวัดลำพูน โดยพยานเสียค่าใช้จ่ายจำพวกชุดครุยค่าอาหารและค่าโรงแรมที่พักเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท ต่อมามีการจัดพิธีมอบปริญญาบัตรที่โรงแรม ม. โดยมีหม่อมราชวงค์ จ. เป็นผู้มอบในครั้งนี้พยานได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ด้านสื่อสารมวลชนและพยานพบจำเลยที่ 2 ที่โรงแรมดังกล่าวด้วย แม้พยานโจทก์ทั้งสองจะไม่ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับมหาวิทยาลัย ป. ก็ตาม แต่ตามรายงานการประชุม มีข้อความระบุชัดว่าเป็นรายงานการประชุมคณะทำงาน ครั้งที่ 4/2013 ซึ่งในวาระที่ 1 เรื่องแจ้งเพื่อทราบมีข้อความระบุชัดว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ส. ได้กล่าวต้อนรับคณะบริหารและคณะทำงานผู้ร่วมก่อตั้ง พร้อมกับแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า Dr. R. เป็น Director โดยมีญาติที่ประเทศปากีสถานอีก 6 คน ร่วมก่อตั้ง และได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัย ส. และมหาวิทยาลัย ส. 2 ว่า หากไม่มีคณะทำงานผู้ร่วมก่อตั้งโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ส. จำเลยที่ 2 และดร.กิตติคุณ ศ. ก็จะไม่มีวันนี้ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังแจ้งในที่ประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะอาจารย์ ตามขั้นตอนการเปิดการเรียนการสอนว่า ได้แต่งตั้งคณะอาจารย์แล้ว 99 คน และนำร่องนักศึกษาระดับอนุปริญญา 6 คน และในวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา 3.2 พิจารณาแต่งตั้งฝ่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการ มีการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ส. เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัย ป. จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิการบดี/และฝ่ายวิชาการ/วิจัย จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และนายทะเบียน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอว่า หากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ส. ไปทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ส. ให้จำเลยที่ 2 รักษาการอธิการบดี พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานธุรการกำหนดวันจัดงานสถาปนาคณะทำงาน สถาปนาคณะผู้บริการและมอบปริญญากิตติมศักดิ์รุ่นกัซซัน อันเป็นการประชุมกำหนดตัวคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ป. แม้รายงานการประชุมจะไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองรับรองความถูกต้อง แต่รายงานการประชุมฉบับดังกล่าวนี้ก็เป็นเอกสารที่นางอมลวรรณ ผู้เข้าร่วมประชุมนำมามอบให้พันตำรวจโทศักกพล พนักงานสอบสวนซึ่งจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านรายงานการประชุมดังกล่าวหากแต่จำเลยที่ 2 ยังลงนามในฐานะรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัย ป. ในหนังสือเชิญหม่อมราชวงศ์ จ. มาเป็นประธานการมอบตำแหน่งคณาจารย์นักวิชาการ โดยในหนังสือเชิญมีข้อความระบุว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนระบบทางไกล Cyber ทั่วโลก สถานที่ตั้งอยู่ที่ประเทศปากีสถาน มีคณาจารย์ นักวิชาการและศูนย์การศึกษานอกระบบ (กศน.) ในประเทศไทย ประกอบกับในงานวันที่ 25 และ 26 พฤษภาคม 2556 ยังมีป้ายข้อความระบุชัดว่า พิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานและประสาทปริญญาบัตร และจำเลยที่ 2 ยังร่วมลงชื่อในปริญญาบัตรที่มอบในงานดังกล่าวด้วย ทั้งในเว็บไซต์ ที่จำเลยที่ 1 นำข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ป. ลงเผยแพร่ นอกจากจะปรากฏรายชื่อคณาจารย์ ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย ป. วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ และแผนการดำเนินงานที่ระบุว่าเปิดลงทะเบียนการเรียนตั้งแต่พฤษภาคม 2013 เป็นต้นไปแล้ว ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและฝ่ายวิจัย กับมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัย ป. และยังปรากฏข้อมูลสื่อสารถึงนักศึกษาและสมาชิก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์วิธีการเรียนการสอนและคู่มือการเขียนสารนิพนธ์ตลอดจนหลักสูตรการศึกษาไว้สอดคล้องกับเอกสารการขออนุญาตจัดตั้ง ที่ประเทศปากีสถาน ที่จำเลยที่ 1 นำมาแสดงต่อพันตำรวจโทศักกพลซึ่งมีข้อความระบุชัดว่าคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย ป. มีมติให้จำเลยทั้งสองกับพวกรวม 9 คน เป็นคณะกรรมการจากประเทศไทยด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว เชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ป. ขึ้นในประเทศไทย แม้ยังไม่มีการเรียนการสอน แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ ระบุชัดว่า มหาวิทยาลัย ป. มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การกีฬาและสาธารณสุข ทั้งยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา อาทิเช่น หัวข้อเกี่ยวกับนักศึกษาใหม่ หลักสูตร การเรียน การสอนและคณาจารย์ไว้ชัดแจ้ง โดยเฉพาะในหัวข้อนักศึกษาใหม่ มีการแจกแจงระเบียบการลงทะเบียนนักศึกษาใหม่ เกณฑ์การรับสมัครทุนการศึกษา อัตราค่าลงทะเบียนปี 2556 และระเบียบนักศึกษาเทียบโอนไว้ อันแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย ป. จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย ป. จึงมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามความในมาตรา 8 และ 9 ของพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัย ป. ขึ้นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกับนำข้อมูลหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดจนระเบียบการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ และจัดให้มีพิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการคณะทำงานของมหาวิทยาลัย ป. และมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับบุคคลต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นหลงเชื่อว่ามหาวิทยาลัย ป. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ตามฟ้องข้อ 1. โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลากลางวันถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ข้อ 1.1 จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ป. โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อ 1.2 ตามวันเวลาดังกล่าวตามฟ้องข้อ 1. จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตและกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัย ป. แต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการและตำแหน่งทางการบริหารในลักษณะเดียวกับมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายมีหลักสูตรการเรียนการสอน การมอบปริญญาชั้นต่าง ๆ และตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่ามหาวิทยาลัย ป. มีการจัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องและจำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาของมหาวิทยาลัย ป. โดยความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาระดับปริญญาตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามฟ้องโจทก์ดังกล่าวนอกจากโจทก์จะบรรยายระบุชัดว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ป. โดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วตามฟ้องข้อ 1.2 โจทก์ยังบรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงสามารถแยกเจตนาของจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามฟ้องถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในลักษณะเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1036/2562 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1703/2562 ของศาลชั้นต้นซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ป. โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาส่วนคดีหมายเลขแดงที่ อ.1036/2562 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1703/2562 ของศาลชั้นต้น แม้ทั้งสองคดีดังกล่าวโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ส. และ มหาวิทยาลัย ส. 2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นคนละมหาวิทยาลัยกับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับทั้งสองคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า มีเหตุลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะอายุมากแล้ว แต่การที่จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัย ป. และแสดงออกให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า มหาวิทยาลัย ป. มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีปริญญาโท และปริญญาเอก โดยที่ไม่มีการดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องและไม่มีการเรียนการสอนจริง การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลที่สนใจศึกษาหาความรู้เสียโอกาสทางการศึกษา ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยตรง ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนในการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ พฤติการณ์จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้นนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 100,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน และปรับ 120,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์