โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 371, 379 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 83 ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 5 ปีและปรับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 371 จำนวน 100 บาท ตามมาตรา 379จำนวน 200 บาท รวมโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี ปรับ 300 บาทริบของกลาง ยกข้อหาอื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 หรือไม่ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม2529 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา นายประกอบมีความโกรธจำเลยที่ 1เมื่อทราบว่า จำเลยที่ 1 ทำร้ายนางวิไลภรรยาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสาวของนายประกอบได้รับบาดเจ็บมีโลหิตไหลต้องไปให้แพทย์รักษา จึงได้มาท้าทายจำเลยที่ 1 ที่บ้านพักจำเลยที่ 1 โดยนายประกอบมีไม้ที่คว้ามาได้ข้างทางเป็นอาวุธ จำเลยที่ 1 ได้สมัครใจวิวาทด้วยโดยถือมีดปลายแหลมยาวประมาณ 2 ฟุต เป็นอาวุธเดินลงจากที่พักของจำเลยที่ 1 มาต่อสู้กับนายประกอบ นายประกอบใช้ไม้ตีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 หลบแล้วใช้มีดฟันโต้ตอบ นายประกอบยกไม้ขึ้นรับ ไม้หัก นายประกอบวิ่งหนี จำเลยที่ 1 วิ่งตามไปและโยนมีดทิ้ง เข้าชกต่อยกับนายประกอบได้ 2-3 นาที จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ได้เข้าช่วยจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นคนจับขาทั้งสองของนายประกอบ นายประกอบจึงล้มลง จำเลยที่ 2 ได้นั่งคุกเข่าใช้มือซ้ายกดไหล่นายประกอบ มือขวาถือเหล็กแหลมขู่ จำเลยที่ 4นั่งคุกเข่าใช้มือกดไหล่อีกข้างหนึ่งของนายประกอบไว้ จำเลยที่ 3ส่งเหล็กแป๊ปน้ำของกลางซึ่งยาวประมาณ 80 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาประมาณ 1 นิ้ว ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็ปล่อยตัวนายประกอบ นายประกอบยืนขึ้น จำเลยที่ 1 ใช้เหล็กแป๊ปน้ำตีนายประกอบอย่างแรง 1 ที ที่บริเวณหลังศีรษะด้านซ้าย แล้วจำเลยทั้งสี่ยืนคุมเชิงอยู่ นายประกอบวิ่งหนี พอดีนางกิ่งได้มาห้ามไว้เมื่อกลับถึงบ้านพัก นายประกอบรู้สึกปวดศีรษะมาก มีคนพาไปโรงพยาบาลวชิรพยาบาล นายประกอบถึงแก่ความตายในคืนนั้น โดยแพทย์ลงความเห็นว่าตายเพราะก้อนเลือดกดสมองเนื่องจากการตีของจำเลยที่ 1นั่นเอง จากข้อเท็จจริงนี้เห็นว่า เหล็กแป๊ปน้ำมีความยาว 80เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 1 นิ้ว เป็นอาวุธที่สามารถตีคนถึงแก่ความตายได้ ตำแหน่งบาดแผลที่ถูกตีคือศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ เมื่อกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงย่อมทำให้ถึงแก่ความตายได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาอาวุธที่ใช้ ตำแหน่งของร่างกายที่ถูกตี และจำเลยที่ 1 ตี 1 ครั้งอย่างแรงเป็นเหตุให้มีก้อนเลือดราว 200 มิลลิลิตรอยู่นอกเยื่อหุ้มสมองและกดสมองจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเพียง 2 ชั่วโมงเศษแล้วย่อมแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าต้องการฆ่านายประกอบหรือเล็งเห็นผลได้ว่าทำให้นายประกอบถึงแก่ความตายได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้ความเพียงว่าได้วิ่งตามจำเลยที่ 1 และผู้ตายไปเมื่อตามไปทันก็ช่วยจับผู้ตายจนล้มลงและกดผู้ตายให้นอนลงกับพื้นโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุกับผู้ตายแต่อย่างใด ทั้งในระหว่างที่วิ่งไล่ตามไปนั้นหากมีเจตนาฆ่า จำเลยที่ 2 ซึ่งมีเหล็กแหลมเป็นอาวุธคงจะแทงผู้ตายแล้ว และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็น่าจะทำอะไรมากกว่านั้น แต่หาได้กระทำไม่ การที่จำเลยที่ 3 ส่งเหล็กแป๊ปน้ำให้จำเลยที่ 1 ก็ไม่แน่ว่าส่งให้โดยมีเจตนาให้ใช้ฆ่าผู้ตาย และขณะที่ผู้ตายถูกจับจนล้มลงนั้น หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายก็คงจะรุมทำร้ายผู้ตายเสียในตอนนั้นแล้วคงจะไม่ปล่อยให้ผู้ตายยืนขึ้นจนถูกจำเลยที่ 1 ใช้เหล็กแป๊ปน้ำตีที่ศีรษะด้านหลังซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันจับผู้ตายไว้ให้จำเลยที่ 1 ตี และเมื่อผู้ตายยืนขึ้นแล้ววิ่งหนีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็ไม่ได้ไล่ตามไปทำร้ายผู้ตายซ้ำอีกพฤติการณ์เท่าที่ได้ความดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น เมื่อผลการทำร้ายเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 290 โดยไม่ระบุวรรคใดนั้น สมควรระบุเสียให้ชัดแจ้ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 จำคุก 20 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.