คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 450,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 675,000 บาท ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 7 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 14 ปี 24 เดือน และปรับ 675,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 12 เดือน และปรับ 337,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง คดีถึงที่สุด
จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดโทษจำเลยใหม่เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 8 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า จำคุก 5 ปี และปรับ 450,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี 8 เดือน และปรับ 250,000 บาท (ที่ถูก ปรับ 450,000 บาท) เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมจำคุก 7 ปี 6 เดือน 20 วัน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน 10 วัน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." ดังนั้น คำว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวนั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิด หรือบัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทบัญญัติความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม และบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและมีผลที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 นั้น สำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกำหนดโทษใหม่จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังคดีนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นกำหนดโทษในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 8 เดือน ซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน หรือปรับไม่เกิน 26,666.66 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 450,000 บาท และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 67 เม็ด และพยายามจำหน่ายไป 20 เม็ด บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการจำหน่ายเป็นการทั่วไป จึงเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สำหรับการปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรมและการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนซึ่งตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและการพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งแยกเป็นคนละฐานความผิด ดังนั้น การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) เพียงกรรมเดียว จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) สำหรับบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้เช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดได้ การเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) เช่นกัน แต่อย่างใดก็ตามเมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องเพิ่มโทษเพราะกระทำความผิดอีกไว้ ก็มิได้หมายความว่า ศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์ได้ขอเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มาตรา 97 ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แล้วด้วย ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ จึงถือว่า ความผิดอย่างเดียวกันฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษที่กำหนดตามคำพิพากษา คำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำเลยใหม่ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งกำหนดโทษใหม่ของศาลชั้นต้น