โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 341, 352, 353 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัท ป.หรือโจทก์ตามส่วนที่โจทก์ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบข้อเท็จจริงรับกันว่า มีนายหน้าซื้อขายที่ดินติดต่อให้นายเจ็นส์มาพบกับจำเลยที่ 2 เพื่อเจรจาขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทเมื่อเดือนเมษายน 2557 ราคา 300,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสี่นำสืบต่อสู้อ้างว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 4 ได้วางเงินจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทไว้แล้ว จึงมีการติดต่อให้นายเจ็นส์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทกับจำเลยที่ 4 จึงสมควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้เช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ป. เป็นค่าจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาท เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 4 หรือไม่ ในข้อนี้มีจำเลยที่ 1 และที่ 4 อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความสอดคล้องกันว่า ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ราคา 200,000,000 บาท ได้มีการเจรจาต่อรองและตกลงกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 จึงได้จัดการโอนเงินจองซื้อเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2557 เป็นต้นมา แล้วจำเลยที่ 1 จึงสั่งจ่ายเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีของบริษัท ป.รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,500,000 บาท นอกจากนั้น นางวิชชนีย์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและพนักงานตรวจสอบบัญชีของบริษัท ป. ยังเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ว่า เอกสารทางบัญชีของบริษัท ป. บันทึกไว้ว่าตึก ซี 1 มีชื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้ซื้อ ส่วนเงินที่เข้ามาชำระเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 ประกอบกับ ตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายก็ระบุว่าจำเลยที่ 4 ได้ชำระเงินมัดจำมาแล้ว 19,500,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาท โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินในบัญชีของบริษัท ป. ร่วมกับจำเลยที่ 1 น่าจะมีการตรวจสอบและรับรู้ถึงเรื่องการที่มีเงินเข้ามาในบัญชีของบริษัทหลายครั้งเป็นจำนวนมากเช่นนั้น ส่วนที่โจทก์เบิกความตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจำเลยที่ 4 จึงไม่โอนเงินจองเข้าบัญชีของบริษัท ป. โดยตรงนั้น โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่ารายการทางบัญชีที่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีของบริษัท ป. มิใช่การที่จำเลยที่ 4 ชำระเงินจองซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทแต่อย่างใด ทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 และโจทก์เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน ดังเช่นกรณีนายสมชาย คู่สัญญากับบริษัท ป. โอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ 6 ครั้ง เป็นเงิน 18,000,000 บาท และลูกค้ารายนายวารินทร์ ก็โอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ 10,000,850 บาท ซึ่งโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านยอมรับว่า นายวารินทร์เป็นนักธุรกิจกลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 4 แต่โจทก์กลับไม่ทราบว่านายวารินทร์เคยสั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีโจทก์ 10,000,850 บาท หรือไม่ และไม่ทราบว่าจ่ายเป็นค่าอะไร รวมทั้งไม่ทราบว่า เป็นบัญชีส่วนตัวของโจทก์หรือเป็นบัญชีของบริษัท ป.ซึ่งมีลักษณะเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงไม่ตรงไปตรงมา จึงน่าเชื่อว่าการให้ลูกค้าของบริษัท ป. ชำระเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 1 และโจทก์ในฐานะกรรมการก่อนที่จะโอนเงินเข้าบริษัทนั้น เป็นเรื่องปกติในทางการค้าของบริษัท ป. ประกอบกับจำเลยที่ 4 เป็นนักธุรกิจซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการในหลายบริษัท และเคยซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการของบริษัทในเครือของบริษัท ป.มาก่อน จึงมีเหตุผลสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสี่ว่าจำเลยที่ 4 น่าจะมีศักยภาพที่จะเข้าทำความตกลงซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทได้ด้วยตนเอง ทั้งไม่มีเหตุผลใดที่จะชี้ให้เห็นว่ามีมูลเหตุชักจูงใจให้จำเลยที่ 1 ต้องสั่งจ่ายเช็คส่วนตัวเป็นเงินจำนวนมากเพื่อนำเงินของตนเองไปเข้าบัญชีของบริษัท ป. หลายครั้งหลายหน ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม จนถึงปลายเดือนมีนาคม 2557 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นถึง 19,500,000 บาท ซึ่งการถอนเงินออกจากบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินการได้โดยลำพังแต่จะต้องมีโจทก์ร่วมรับรู้และร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินด้วย จึงน่าเชื่อถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ตกลงจะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาท โดยได้วางเงินจอง 19,500,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ส่วนกรณีที่นายเจ็นส์ซึ่งมีความสนใจจะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทโดยเข้ามาติดต่อเจรจากับจำเลยที่ 2 และเข้ามาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 นั้น เป็นการเข้ามาภายหลังจากจำเลยที่ 4 ตกลงจะซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทกับบริษัท ป.แล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และบริษัท ป. ไม่มีนิติสัมพันธ์กับนายเจ็นส์ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวน 100,000,000 บาท ที่นายเจ็นส์นำมาชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 4 นอกจากนี้ ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานของบริษัท ป. ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงข้อความใดอันเป็นเท็จในบัญชีหรือเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดของบริษัทเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นหรือบริษัท ป. ขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาในส่วนแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้คดีนี้ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองและไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่งก็ตาม แต่เมื่อคดีส่วนนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ