โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) (4) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 9 กระทง จำคุกกระทงละ 1 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 20 วัน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 180 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องว่านายทรงเกียรติ ขอวางเงินจำนวน 450,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปลายปี 2560 จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกทศกัณฑ์ รวม 9 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 5 กันยายน 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 20 กันยายน 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2561 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 5 มกราคม 2562 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท และฉบับที่ 9 ลงวันที่ 20 มกราคม 2562 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2562 โจทก์นำเช็คฉบับที่ 1 ถึงที่ 8 ไปเรียกเก็บเงิน และวันที่ 21 มกราคม 2562 โจทก์นำเช็คฉบับที่ 9 ไปเรียกเก็บเงิน โดยฝากเข้าบัญชีของนางสาวสุวรรณา กรรมการบริษัทโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า "บัญชีปิดแล้ว" ทั้งนี้ จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 และโจทก์นำสืบว่า หลังจากจำเลยหยุดผ่อนชำระค่าสินค้าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 จำเลยจึงออกเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับเพื่อผ่อนชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับภายหลังจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งการออกเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับเพื่อผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น หนี้ตามเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง