คดีนี้ เนื่องมาจากโจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ข้อที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอื่นยังไม่มีโทษที่จะนับได้ เพราะคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอื่น จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะข้อขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังแล้ว แต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2514 ครั้นวันที่ 4 มิถุนายน 2514 จำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และขอให้ออกหมายจำคุกเด็ดขาดให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแล้ว จึงไม่มีอุทธรณ์ที่จะขอถอนได้ให้ออกหมายจำคุกเด็ดขาดให้เมื่อคดีถึงที่สุด
ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2514 จำเลยยื่นคำร้องอีกว่าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2514 คดีของจำเลยเป็นอันสิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว ขอให้ออกหมายจำคุกเด็ดขาดให้ โดยลงหมายเหตุว่าคดีถึงที่สุดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2514 เพื่อจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อคู่ความไม่ยื่นฎีกาต่อไป คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2514 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรค 2และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลจึงหมายเหตุจำคุกจำเลยเด็ดขาดให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาสละสิทธิที่จะฎีกาต่อไปแล้ว และคดีไม่มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะฎีกาต่อไป จึงถือได้ว่าคดีถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2514 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคแรก พิพากษากลับเป็นว่าคดีถึงที่สุดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2514 ให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ใหม่โดยหมายเหตุไว้ด้วยว่า คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2514
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147ซึ่งนำมาใช้แก่คดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 มีบัญญัติไว้ในวรรค 1 ว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ นั้นให้ถือว่าถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป" และในวรรค 2บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ฯลฯ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 นี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อที่ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอื่น แต่คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 แต่ก็มิได้ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย คู่ความจึงอาจฎีกาต่อไปได้ ดังนั้น คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรค 2 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีของจำเลยที่ 2 ไม่มีข้อกฎหมายที่จะฎีกาต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นแต่เพียงการคาดคะเนเอาเท่านั้นยังไม่เป็นการแน่นอนเสียทีเดียว
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาสละสิทธิที่จะฎีกาต่อไปแล้ว โดยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และขอให้ออกหมายจำคุกเด็ดขาดเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวมาภายหลังที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแล้ว และยังอยู่ในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา หากจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายขึ้นมาอีกในระหว่างนั้น ศาลก็ต้องรับฎีกาของจำเลยไว้ จะปฏิเสธไม่รับหาได้ไม่ ดังนี้ จะถือว่าคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดเด็ดขาดย้อนหลังไปนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ได้เพราะขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรค 2 ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น