โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดเพียงผู้เดียวเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โจทก์มีนายวรุธ เป็นกรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้นายสุวิชัย ดำเนินคดีแทน และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ และนายสุวิชัยมอบอำนาจช่วงให้นายวิรุฬห์ ดำเนินคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 จำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ทั่วเขตเทศบาลตำบลสันมหาพน ประจำปีภาษี 2551 โดยประเมินค่ารายปี 100,800 บาท พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 12,600 บาท โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดว่า คณะผู้บริหารเทศบาล ตำบลสันมหาพนชี้ขาดยืนตามการประเมิน ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้จำเลยแสดงเหตุผลตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าได้ทำการชี้ขาดแล้ว หากไม่พอใจคำชี้ขาดให้ไปใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล โจทก์ไม่เห็นด้วย กล่าวคือ หนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดนั้นเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ และการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งว่าได้ทำคำชี้ขาดแล้ว หากไม่พอใจคำชี้ขาดให้โจทก์ไปใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด. 8) ใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด. 11) และ หนังสือที่ ชม 62202/1161 ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2551 และมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้นายดำเนิน ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และหนังสืออุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง และไม่ปรากฏว่านายดำเนินมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งทางปกครองพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 และโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้พ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่ให้โจทก์ส่งเรื่องที่มีกรณีพิพาทกับจำเลยให้สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอต่อคณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาด แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป อีกทั้งเมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาด โจทก์ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับคำชี้ขาดและคำชี้ขาดของคณะรัฐมนตรีย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ในเขตเทศบาลสันมหาพน ประจำปีภาษี 2551 พร้อมแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 12,600 บาท นายดำเนิน ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามโจทก์ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 โจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดว่า คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลสันมหาพนชี้ขาดยืนตามการประเมินโจทก์ชำระค่าภาษีตามการประเมินแล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาดดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากยื่นคำฟ้องพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดหรือไม่ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่า เนื่องจากหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดนั้นเป็นคำสั่งทางปกครองแต่ไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ ดังนั้น กำหนดระยะเวลาในการฟ้องคีดตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ยังไม่เริ่มมีผลใช้บังคับ เห็นว่า เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดตามฟ้องเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน หากโจทก์ไม่พอใจจะนำคดีขึ้นสู่ศาลก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจคำชี้ขาดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็จะต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้เห็นว่าการประเมินนั้นไม่ชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด ดังนั้นแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินและคำชี้ขาดด้วยเหตุผลว่าหนังสือแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่มีเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอ้ง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 ก็ต้องนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องส่วนที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางเกี่ยวกับค่าขึ้นศาลว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลมาวางอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) และใบแจ้งคำขี้ขาด (ภ.ร.ด.11) หากโจทก์ชนะคดีย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีความรับผิดในค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมิน ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาและมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ