โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76/1, 100/1, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 7, 11, 12, 18, 41, 58, 62, 64, 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 7, 9, 10, 27, 51, 54, 57, 60 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 75 วรรคสอง, 76/1 วรรคสี่ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง, 81 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่ากับฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี และปรับคนละ 40,000 บาท ฐานร่วมกันผลิตและมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท ฐานให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี 9 เดือน และปรับคนละ 34,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 2 ปี 3 เดือน และปรับ 45,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยที่ 3 ไว้ 1 ปี ให้จำเลยที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี สถานเดียว ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 เดือน สถานเดียว ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 เดือน สถานเดียว ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 เดือน ไม่ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ฐานให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม รวมโทษและโทษตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 13 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 15 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติของจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง ยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณป่าเกาะพะงัน เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติทั้งที่ดินที่จำเลยที่ 3 ร่วมกันยึดถือครอบครองตามฟ้องมีเนื้อที่ถึง 34 ไร่เศษ นับว่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 กับพวกยังร่วมกันผลิตโดยปลูกต้นกระท่อม พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยที่ 3 สุขภาพไม่แข็งแรง ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันผลิตพืชกระท่อมและร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76/1 ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 8 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และเพิ่มเติมมาตรา 26/2 ฐานผลิตพืชกระท่อม และมาตรา 26/3 ฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยข้อความตามกฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับในส่วนบทความผิด และมาตรา 17 ให้ยกเลิกมาตรา 75 และมาตรา 76/1 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 โดยให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งบทกำหนดโทษฐานผลิตพืชกระท่อมในมาตรา 75 วรรคสอง ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 75 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน และบทกำหนดโทษฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 76/1 วรรคสี่ ตามกฎหมายเดิม และมาตรา 76/1 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากันเช่นเดียวกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 51, 54 รวมกับความผิดฐานอื่น ๆ แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป โดยมาตรา 3 กำหนดให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 นำข้อหาความผิดเดิมตามมาตรา 51 ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และตามมาตรา 27, 54 ฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานมาบัญญัติเป็นความผิดไว้ซึ่งตรงกับมาตรา 8, 9, 101, 102 ของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 101, 102 แห่งพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปและข้อ 6 ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับ ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสามจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม), 75 วรรคสอง (เดิม), 76/1 วรรคสี่ (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์