โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายบำเหน็จที่ยังขาดอยู่ 694,005.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยเพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขวิธีคำนวณบำเหน็จพนักงาน และระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 และแก้ไขระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและศาลแรงงานภาค 1 ฟังมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2522 ขณะจำเลยเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยแปลงสภาพเป็นบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเพียงผู้เดียว คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินสำหรับจำเลยซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการบริหารจัดการได้เอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้จำเลยสามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ทั้งนี้เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และอาจมีกรณีจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อแข่งขันกับกิจการอื่น เดิมจำเลยมีสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จกรณีพนักงานหรือลูกจ้างเกษียณอายุการทำงาน ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ. 2529 และระเบียบบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 โดยให้นำค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงานนับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นพนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนถึงวันสุดท้ายที่เกษียณอายุการทำงาน ต่อมาจำเลยออกระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 แก้ไขการนับเวลาทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จและวิธีการคำนวณบำเหน็จ โดยกำหนดให้แบ่งการคำนวณบำเหน็จเป็นสองช่วง ช่วงแรกให้นับเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจนถึงวันพ้นสภาพการเป็นพนักงานก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2548 คูณด้วยอัตราค่าจ้าง ณ วันดังกล่าว ช่วงที่สองให้นับเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ระเบียบฉบับแก้ไขมีผลใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2548 จนถึงวันสุดท้ายที่เกษียณอายุการทำงาน เหตุผลที่จำเลยออกระเบียบฉบับแก้ไขดังกล่าวสืบเนื่องมาจากจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ทำให้จำเลยมีภาระต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของจำเลย และเพื่อให้สอดคล้องเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังด้วย คณะกรรมการจัดการกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน จึงเห็นควรเสนอแก้ไขระเบียบให้แบ่งการคำนวณจ่ายเงินบำเหน็จเป็นช่วง ๆ ทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ จำเลยจึงให้คณะกรรมการกลั่นกรองงานกิจการสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องร้องทุกข์ต่าง ๆ พิจารณาก่อนแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์บริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายบริหารซึ่งเป็นนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายพนักงานคือ สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์บริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบตามเสนอ จำเลยจึงมีหนังสือขอความเห็นชอบในการแก้ไขระเบียบผ่านกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปยังกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมดของจำเลย วันที่ 9 สิงหาคม 2548 กระทรวงการคลังมีหนังสือถึงจำเลยให้แก้ไขระเบียบบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ตามหลักการของมติคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 ให้แล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ต่อมาโจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ด้วยเหตุเกษียณอายุ รวมระยะเวลาทำงานทั้งสิ้น 36 ปี 6 เดือน 15 วัน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์ได้รับเดือนละ 67,960 บาท จากผลที่จำเลยแก้ไขวิธีการนับเวลาทำงานเพื่อคำนวณบำเหน็จใหม่ ให้ใช้ตามระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 ทำให้โจทก์ได้รับบำเหน็จเป็นเงิน 1,715,619.86 บาท ซึ่งหากคำนวณตามข้อบังคับและระเบียบเดิม โจทก์จะได้รับบำเหน็จถึง 2,409,625 บาท โจทก์เห็นว่าระเบียบฉบับที่แก้ไขไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับ จึงมาฟ้องเรียกร้องบำเหน็จจำนวนที่ขาดอีก 694,005.14 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 ชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แก่รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยขณะเป็นบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยให้สามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยมีอำนาจปรับปรุงระเบียบบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและอยู่ในขอบเขตที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งอีก การที่จำเลยมอบให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว แล้วจำเลยเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการใช้บังคับ จึงถูกต้องตามกระบวนการในพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ทุกประการ สำหรับปัญหาว่าการปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าวออกเป็นระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับอยู่เดิมลง ขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 หรือไม่ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบการแปลงสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอ มีใจความตอนหนึ่งว่า ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่โอนไปยังบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม เป็นมติที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ให้พนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง" ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจในรูปองค์การของรัฐเป็นบริษัท ดังจะเห็นจากคำว่า "พนักงานตามวรรคหนึ่ง" หมายถึง บรรดาพนักงานตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นลูกจ้างของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในวันจดทะเบียนบริษัท ซึ่งในขณะที่จำเลยแปลงสภาพจากองค์การของรัฐเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้ให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่เดิมและยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขออกเป็นระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 แต่อย่างไร กรณีไม่อาจอ้างพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีมาปรับหรือบังคับให้ระเบียบดังกล่าวตกไป ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้วินิจฉัยไว้ว่าพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการแก้ไขสภาพการจ้าง เพราะการแก้ไขสภาพการจ้างของลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ สำหรับการแก้ไขสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินของจำเลยในกรณีตามคำฟ้อง คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำกับดูแลโดยเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินให้จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพอาจดำเนินการได้เอง นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างจากฝ่ายบริหารของจำเลย และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจากสมาชิกของสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจจำเลย เป็นกรรมการพิจารณาให้ความเห็น ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างอีกด้วย ส่วนปัญหาว่าการออกระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 เป็นการลดประโยชน์ที่โจทก์มีสิทธิได้รับอยู่เดิมลงขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สภาพการจ้างตามระเบียบดังกล่าว นอกจากเป็นสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงได้เอง ไม่ใช่สภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาตกลงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่มีข้อห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแล้ว โดยหลักของการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดสภาพการจ้างใหม่ ไม่ว่าจะเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองกัน หรือการปรึกษาหารือกัน ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าข้อตกลงหรือข้อยุติจะต้องเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น แม้ข้อตกลงหรือข้อยุติไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่ได้รับอยู่เดิมลงบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตามเหตุผลในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ก็ย่อมใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยออกระเบียบดังกล่าวแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จ เพราะจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานมากขึ้น แสดงว่าฝ่ายพนักงานลูกจ้างหรือโจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษแล้ว หากจะต้องลดประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จไปบ้าง เพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร ย่อมถือได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ระเบียบบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการปรับปรุงสภาพการจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุผลเพียงพอ ไม่ปรากฏว่าเป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ย่อมมีผลใช้บังคับแก่โจทก์และลูกจ้างทุกคนและพิพากษายืนตามศาลแรงงานภาค 1 ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมดนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน