คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางนงนาท ผู้ตายร่วมกัน คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นฟ้องผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 ขอให้เพิกถอนพินัยกรรม เพิกถอนผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ครั้นวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ผู้ร้องถึงแก่ความตาย
วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ และมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 2 ไปดำเนินการในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 ของศาลชั้นต้นต่อไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียว โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ประการแรกมีว่า คำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 ของศาลชั้นต้น หรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้น คู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลยไม่ต้องด้วยกรณีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เป็นฟ้องซ้อนมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้น เพราะจะฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 กรณีจึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ