โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 11,103,793 บาท นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ห. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 11,103,793 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,334,516.05 บาท นับจากวันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จของต้นเงิน 2,430,721.79 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงิน 2,196,342.75 บาท นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และของต้นเงิน 3,149,211.69 บาท นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองให้การคดีส่วนแพ่งว่ามิได้กระทำผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 11,103,793 บาท ยกคำขอในส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการจำหน่ายทองคำ ย่านวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายชัยโรจน์ เป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมเคยซื้อทองคำกับโจทก์ร่วมไปขายต่อ นายชัยโรจน์อ้างว่ามีร้านทองหลายร้าน ต่อมานายชัยโรจน์พาบุตร 4 คน ประกอบด้วยนายศุภศิลป์ นายฐานิส และจำเลยทั้งสองมาแนะนำให้พนักงานงานของโจทก์ร่วมรู้จัก ตามวันเวลาเกิดเหตุ โจทก์ร่วมขายทองคำให้บริษัท ห. ซึ่งเป็นบริษัทของนายชัยโรจน์ 4 ครั้ง คิดเป็นเงิน 11,103,793 บาท โจทก์ร่วมออกใบกำกับภาษี/ใบส่งสินค้า โดยโจทก์ร่วมได้รับชำระราคาเป็นเช็ครวมแปดฉบับต่อมาเช็คทั้งแปดฉบับ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้นางศิริวัลย์ ดำเนินคดีแก่นายชัยโรจน์และบุคคลในครอบครัว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นบุตรของนายชัยโรจน์และเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมมาก่อนเกิดเหตุเป็นระยะเวลาพอสมควร ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนเหตุที่มีการแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองและนายชัยโรจน์ล้วนมาจากพฤติการณ์ในการก่อเหตุ โดยในเบื้องต้นโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นางศิริวัลย์ดำเนินคดีแก่นายชัยโรจน์และบุคคลในครอบครัวทุกคน แต่ในเวลาต่อมามีการถอนคำร้องทุกข์ในส่วนของนายศุภศิลป์และนายฐานิส โดยนางศิริวัลย์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้ไปที่ร้านโจทก์ร่วมในวันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการดำเนินคดีแก่นายชัยโรจน์และบุคคลในครอบครัวเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อเอาผิดแก่จำเลยทั้งสองเพียงเพราะเป็นบุตรของนายชัยโรจน์ เชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความไปตามความจริง ส่วนที่นางศิริวัลย์ให้การครั้งแรกเพียงว่า บุตรของนายชัยโรจน์ผลัดเปลี่ยนกันมาซื้อทองคำและออกเช็คสั่งจ่ายค่าทองคำ และหลังจากนั้นประมาณ 7 เดือน ไปให้การเพิ่มเติมว่า บุตรของนายชัยโรจน์ที่เคยให้การถึงคือจำเลยทั้งสองนั้นอาจเป็นเพราะอยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมเพื่อให้ได้ความชัดเจนเท่านั้นจึงไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธสงสัย ส่วนที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย มิได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ไปที่ร้านโจทก์ร่วมในวันเกิดเหตุ เพราะจำเลยทั้งสองอาจนำเช็คที่นายชัยโรจน์ลงลายมือชื่อแล้วมากรอกเฉพาะในส่วนของราคาทองคำแล้วมอบให้โจทก์ร่วมเท่านั้น ข้อสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการชำระราคาทองคำด้วยเช็คของนายชัยโรจน์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินอยู่ในบัญชีหรือไม่จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของนายชัยโรจน์ และจำเลยทั้งสองเบิกความตอบโจทก์ถามค้านได้ความว่า ตั้งแต่เรียนจบจำเลยทั้งสองช่วยนายชัยโรจน์ประกอบธุรกิจร้านทองมาโดยตลอดจำเลยทั้งสองย่อมทราบถึงสถานะทางการเงินของนายชัยโรจน์ว่าเป็นอย่างไร แต่จำเลยทั้งสองกลับชำระราคาทองคำมูลค่ากว่าสิบล้านบาทด้วยเช็คของนายชัยโรจน์ซึ่งไม่มีเงินอยู่ในบัญชีทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจะได้รับชำระหนี้ จึงส่งมอบทองคำให้แก่จำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นนายชัยโรจน์กลับปิดกิจการและหลบหนีไป ซึ่งนอกจากร้านทองของโจทก์ร่วมแล้วนายชัยโรจน์และบุคคลในครอบครัวยังได้ร่วมกันก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับร้านทองอื่นอีกหลายร้านก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับนายชัยโรจน์มีเจตนาร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วม พยานฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสองไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมรับฟังได้ปราศจากความสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องจริงเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องและยกคำร้องของโจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
อนึ่ง ในคดีส่วนแพ่งนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 และวันที่ 10 สิงหาคม 2561 หลายรายการ รวมราคา 3,325,650 บาท 2,424,403 บาท 2,190,641 บาท และ 3,134,318 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,075,012 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนทองคำที่ฉ้อโกงไปคืนหรือใช้ราคา 11,103,793 บาท ซึ่งเกินไปกว่าราคาทองคำที่แท้จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป โดยปรากฏตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ถูกกล่าวหาว่าส่วนที่เกินกว่าราคาทองคำที่แท้จริงเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติว่า "ในคดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์… ฉ้อโกง... ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิจะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เข้าต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย" พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนหรือชดใช้ราคาทองคำที่จริงที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไปแทนโจทก์ร่วม อันเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมต้องสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้เท่านั้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มมิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองซื้อขายทองคำกันจริง หากแต่เป็นเพียงอุบายของจำเลยทั้งสองในการฉ้อโกงโจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องมีหน้าที่นำส่งค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากร ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจึงมิใช่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สิน อันเกิดจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โจทก์ร่วมไม่อาจเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาทองคำที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปนั้น โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 440 แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีเสียดอกเบี้ยให้แก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยนิติกรรมหรือกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้เรียกดอกเบี้ยสูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วม จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์ร่วมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยของราคาทองคำในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฉ้อโกงทองคำของโจทก์ร่วมแต่ละรายการ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชดใช้ราคาทองคำเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ปรับเปลี่ยนไปตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ร่วมขอ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีส่วนอาญาไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทองคำแก่โจทก์ร่วม หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคา 11,075,012 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,325,650 บาท นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 ของต้นเงิน 2,424,403 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ของต้นเงิน 2,190,641 บาท นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2561 และของต้นเงิน 3,134,318 บาท นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของราคาทองคำแต่ละรายการดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม โดยสำหรับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ปรับเปลี่ยนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ร่วมคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ