โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เวลา 21.30 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกนิคม เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีและศูนย์วิทยุว่า มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงแรม ร. จึงร่วมกับพวกเดินทางไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบจำเลยและนายอนันต์ ยืนอยู่ข้างรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่องพ่วงติดรถเข็นล้อเลื่อน บรรทุกบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บาน ไว้ด้านบน จึงนำจำเลยและนายอนันต์ไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด พร้อมยึดรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่อง รถเข็นล้อเลื่อน และบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปเป็นของกลาง ต่อมาร้อยตำรวจเอกกริน พนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่า บานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บานดังกล่าว เป็นของบริษัท ว. (โรงแรม ร.) ผู้เสียหาย ได้ติดต่อให้นายศุภชาติ ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานของผู้เสียหายมาตรวจสอบ นายศุภชาติยืนยันว่าบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บาน ดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย จึงดำเนินการขออนุมัติออกหมายจับจำเลยและนายอนันต์ ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2562 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและนายอนันต์ได้ ร้อยตำรวจเอกกรินแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยและนายอนันต์ว่า ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือรับของโจร จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนนายอนันต์ให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยและนายอนันต์ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3396/2562 นายอนันต์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ จึงแยกฟ้องเป็นคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายอนันต์ กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกนิคมไปตามลำดับเป็นขั้นเป็นตอน สอดคล้องลงรอยกับที่ร้อยตำรวจเอกนิคมให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า เมื่อร้อยตำรวจเอกนิคมเดินทางไปตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุหลังได้รับแจ้งจากพลเมืองดีและศูนย์วิทยุว่า เกิดเหตุลักทรัพย์ พบจำเลยและนายอนันต์ยืนอยู่ด้วยกันข้างรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่องพ่วงติดรถเข็นล้อเลื่อนซึ่งบรรทุกบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บาน แต่ร้อยตำรวจเอกนิคมมิใช่ประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะนายอนันต์และจำเลยเข้าไปก่อเหตุลักบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บานดังกล่าว ซึ่งติดตั้งไว้ภายในตัวอาคารโรงแรม ร. โดยร้อยตำรวจเอกนิคมเป็นเพียงพยานพฤติเหตุแวดล้อมซึ่งพบเห็นจำเลยยืนอยู่กับนายอนันต์ข้างรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่องพ่วงติดรถเข็นล้อเลื่อนซึ่งบรรทุกบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บาน ตรงบริเวณลานด้านหน้าอาคารโรงแรมเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปดังกล่าวถูกรื้อถอนแยกออกจากผนังอาคารโรงแรม และเคลื่อนมาอยู่ในการยึดถือครอบครองของนายอนันต์ อันถือว่า นายอนันต์กระทำความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว โดยที่กระบวนพิจารณาคดีอาญาในเรื่องภาระการพิสูจน์และมาตรฐานการพิสูจน์มีหลักการสำคัญถูกบัญญัติวางเป็นหลักไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ใจความว่า โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานทั้งปวงเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งนอกจากต้องนำสืบให้ศาลรับฟังจนแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดแล้ว ยังต้องนำสืบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สิ้นข้อสงสัยตามสมควรด้วยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น จึงย่อมไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา หากนำเพียงพฤติการณ์ของจำเลยที่ถูกร้อยตำรวจเอกนิคมพบเห็นว่า จำเลยยืนอยู่กับนายอนันต์ซึ่งเป็นคนร้ายในบริเวณที่เกิดเหตุมาใช้สันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าต้องมีส่วนรู้เห็นกับนายอนันต์ในการก่อเหตุลักทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยปราศจากพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อยืนยันให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า จำเลยร่วมรู้เห็นถึงการกระทำของนายอนันต์ และประสงค์ร่วมกระทำการดังกล่าวกับนายอนันต์ดังกล่าว แม้ได้ความตามคำเบิกความและคำให้การในชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจเอกนิคมว่า เมื่อร้อยตำรวจเอกนิคมสอบถามจำเลยและนายอนันต์ จำเลยและนายอนันต์แจ้งว่า มายังบริเวณที่เกิดเหตุด้วยกันเพื่อขนบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปของผู้เสียหายไปใช้ซ่อมบ้าน แต่ร้อยตำรวจเอกนิคมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คืนเกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกนิคมมิได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยและนายอนันต์ ทั้งเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า เหตุที่ร้อยตำรวจเอกนิคมมิได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยและนายอนันต์เป็นเพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ป 14 บานดังกล่าว เป็นของจำเลยและนายอนันต์หรือบุคคลใด ดังนี้ จึงมีข้อให้ต้องเคลือบแคลงว่าจำเลยได้แจ้งพฤติการณ์แห่งการกระทำของตนไปดังที่ร้อยตำรวจเอกนิคมเบิกความและให้การไว้ดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากจำเลยยอมรับว่า จำเลยและนายอนันต์มายังบริเวณที่เกิดเหตุด้วยกันเพื่อขนบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปของผู้เสียหายไปใช้ซ่อมบ้าน ย่อมไม่มีเหตุผลที่ร้อยตำรวจเอกนิคมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ โดยละเลยไม่ควบคุมตัวจำเลยและนายอนันต์ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป นับเป็นข้อพิรุธ ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา โดยให้การในชั้นสอบสวน และอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในชั้นพิจารณา ทั้งมีนายอนันต์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนสอดคล้องเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมิได้มายังบริเวณที่เกิดเหตุพร้อมกับนายอนันต์ หากแต่เพิ่งมาถึงและพบนายอนันต์ขณะยืนอยู่บริเวณลานด้านหน้าอาคารโรงแรม ร. โดยบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปถูกขนวางบรรทุกไว้บนรถเข็นล้อเลื่อนเรียบร้อยแล้ว ข้อนำสืบของร้อยตำรวจเอกนิคมย่อมถูกลิดรอนทอนน้ำหนักลง พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงตกอยู่ในความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกับนายอนันต์ลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้ความตามคำเบิกความของนายศุภชาติผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายว่า โรงแรม ร. ของผู้เสียหายปิดกิจการตั้งแต่ปี 2559 ทั้งปักป้ายมีข้อความระบุว่า "ห้ามเข้า ห้ามบุกรุก ปิดกิจการ" และไม่มีผู้รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ สุจริตชนโดยทั่วไปย่อมไม่เข้าไปในบริเวณดังกล่าว จำเลยและนายอนันต์เบิกความสอดคล้องตรงกันในข้อสาระสำคัญว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่องผ่านบริเวณหน้าโรงแรม ร. นายอนันต์ร้องเรียก และให้จำเลยช่วยลากรถเข็นล้อเลื่อนซึ่งบรรทุกบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปกลับบ้าน จากนั้นนายอนันต์นำรถเข็นล้อเลื่อนมาพ่วงต่อเข้ากับรถจักรยานยนต์สามล้อเครื่องของจำเลย ดังนี้ เมื่อได้พิจารณาโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางคืนอันเป็นยามวิกาล ซึ่งนายอนันต์พยานจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า พยานไปนำบานประตูไม้จากโรงแรม ร. ไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ใด เมื่อบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปที่นายอนันต์นำมามีจำนวนมากถึง 14 บาน จำเลยย่อมต้องตระหนักถึงความไม่สุจริตของนายอนันต์ และรับรู้ถึงความผิดปกติเกี่ยวกับแหล่งที่มาของบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปว่า ต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรับไว้ด้วยประการใด ๆ และช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ครบองค์ประกอบเป็นความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แล้ว แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร อันเป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวมาในคำฟ้อง แต่ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ให้จำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี