ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษี: สัญญาซื้อขาย vs. จ้างทำของ และสิทธิในการอุทธรณ์การประเมินภาษี
โจทก์จำหน่ายรองเท้าโดยผลิตเองบ้าง สั่งซื้อรองเท้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศบ้าง และสั่งทำจากร้านต่างๆ ในประเทศบ้างนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับร้านผู้ทำรองเท้าสำหรับรองเท้าที่ทำในประเทศจะเข้าลักษณะสัญญาประเภทใด ก็ย่อมต้องดูเจตนาและกริยาของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกัน เมื่อได้ความว่าโจทก์กับร้านผู้ทำรองเท้าตกลงกันเป็นเรื่องซื้อขายและปรากฏด้วยว่าผู้ทำรองเท้าเหล่านั้นได้ยื่นรายรับแสดงการชำระภาษีการค้า ในฐานะผู้ผลิตต่อกรมสรรพากร และชำระค่าภาษีไปแล้วจึงสนับสนุนให้เห็นเจตนาของโจทก์กับร้านเหล่านั้นว่ามุ่งที่จะก่อนิติสัมพันธ์กันในทางซื้อขาย มิใช่เรื่องเจตนาจ้างทำของ ส่วนที่มีข้อตกลงให้ร้านผู้ทำรองเท้าต้องทำรองเท้าตามชนิดขนาด ลักษณะ แบบ และวัสดุที่โจทก์กำหนดจะผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้อื่นไม่ได้ ร้านผู้ทำรองเท้าต้องประทับตราเครื่องหมายการค้าของโจทก์บนรองเท้า และหีบห่อและต้องยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจการผลิตรองเท้าก็เป็นเงื่อนไขที่คู่สัญญาซื้อขายอาจตกลงกำหนดเป็นข้อบังคับกันได้ ตามพาณิชโยบายของทั้งสองฝ่ายหาทำให้เจตนาของคู่สัญญาแปรเปลี่ยนไปไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อรองเท้าดังกล่าวไม่ใช่ผู้ผลิตโจทก์ก็ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตรองเท้านั้น
การที่กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์และโจทก์ได้ชำระไปตามการประเมินนั้น ไม่ใช่เรื่องกรมสรรพากรได้ทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ กรณีไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้น 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 และเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรตามกฎหมายแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิอุทธรณ์ว่าการประเมินไม่ถูกต้องถ้าหากกรมสรรพากรไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมายก็ต้องคืนให้โจทก์โดยเฉพาะคดีนี้กรมสรรพากรเคยยอมคืนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนให้โจทก์แล้วโดยยอมให้หักเอาจากเงินค่าภาษี ที่โจทก์ต้องชำระแก่กรมสรรพากร ดังนี้กรมสรรพากรจะอ้างว่าได้ครอบครองเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไปอย่างเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 5 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์นั้น ย่อมรับฟังไม่ได้