โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่นาซึ่งอยู่ในความครอบครองและเป็นของนายหอมอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายหอมขายและมอบการครอบครองนาพิพาทแก่ผู้อื่นไปแล้ว จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การครอบครองนาพิพาทยังอยู่กับนายหอม นายหอมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง และฟังว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองนาพิพาทโดยไม่มีสิทธิเป็นการรบกวนการครอบครองของผู้เสียหาย พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 จำคุก 3 เดือน
จำเลยฎีกาว่า นายหอมไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เดิมเป็น ส.ค.1 ของนายหลวงบิดาจำเลยขายให้แก่นายเสรีเป็นการตีใช้หนี้เมื่อ พ.ศ. 2505 นายหลวงได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว นายเสรีขอออก น.ส.3 จึงเกิดพิพาทกับนางนวลมารดาจำเลยศาลพิพากษาว่านายเสรีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท เจ้าพนักงานจึงออก น.ส.3ให้แก่นายเสรี นายเสรีได้จดทะเบียนโอนขายต่อให้นายหอมเมื่อ พ.ศ. 2517 และในปีนั้นเองนายหอมได้เข้าครอบครองทำนา ครั้นปี พ.ศ. 2518 นายหอมทำสัญญากันเองขายต่อให้นายเสนในราคา 12,000 บาท ชำระราคากันแล้ว 10,000 บาทส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนทางทะเบียน ครั้นเดือนพฤษภาคม 2518 นายเสนจะเข้าไปไถที่ทำนา ปรากฏว่าจำเลยเข้าไปไถ่หว่านอยู่แล้ว ไม่ยอมให้นายเสนเข้าไปทำ นายเสนจึงไปแจ้งให้นายหอมทราบ นายหอมไปห้ามจำเลยไม่ยอมเชื่อฟังจึงไปร้องทุกข์เป็นคดีนี้ และวินิจฉัยว่าการซื้อขายที่พิพาทระหว่างนายหอมเจ้าของและนายเสน ผู้ซื้อมีข้อตกลงจะโอนทางทะเบียนและชำระราคาที่เหลือทั้งหมดในวันโอน และแม้จะมีการตกลงให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองได้ระหว่างยังไม่ได้โอนที่พิพาทนั้นก็ตาม เป็นแต่เพียงสัญญาจะซื้อขายและเป็นการมอบที่ดินให้เข้าครอบครองแทนกันไปก่อน สิทธิการครอบครองคงอยู่กับนายหอมเจ้าของที่พิพาท นายหอมจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้มีอำนาจร้องทุกข์ได้
พิพากษายืน