โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 145, 310, 337 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 30,000 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้ผู้ร้องที่ 1 ตกใจและหวาดกลัว เป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้ผู้ร้องที่ 2 ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 (ที่ถูก มาตรา 310 วรรคแรก), 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสนับสนุนผู้อื่นพยายามกรรโชกทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบกุญแจมือของกลาง กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 2 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 9 รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 9 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน และความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก (เดิม) และจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) และ 337 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 กับการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี ของกลางอื่นนอกจากกุญแจมือให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 โจทก์รับว่าเป็นความจริง
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมจะระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุขณะที่นายรัตนพล ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องที่ 2 กับนางสาวจิราพร และนายจิรศักดิ์ พี่สาวและพี่ชายของผู้ร้องที่ 2 อยู่ที่บ้านเกิดเหตุ มีนายมนูญ นายมานิต และจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้าน โดยนายมนูญแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามเรื่องรถจักรยานยนต์ที่ผู้ร้องที่ 2 ครอบครองอยู่ อ้างว่าได้มาโดยผิดกฎหมาย จากนั้นได้ใส่กุญแจมือผู้ร้องที่ 2 พาขึ้นรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กค 2204 พัทลุง ซึ่งจำเลยที่ 2 จอดติดเครื่องยนต์รออยู่หน้าบ้านและขับไปยังศาลาริมบึง โดยมีนายมานิตขับรถจักรยานยนต์ของผู้ร้องที่ 2 ตามออกไป นายจิรศักดิ์จึงโทรศัพท์แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ ผู้ร้องที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาที่บ้านเกิดเหตุแต่ไม่พบผู้ร้องที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์ตามไปแต่ไม่ทัน ระหว่างนั้นมีผู้โทรศัพท์มาหาผู้ร้องที่ 1 แจ้งให้นำเงิน 70,000 บาท มามอบให้ มิฉะนั้นจะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้องที่ 2 แต่มีการต่อรองจนเหลือ 30,000 บาท ต่อมานายจิรศักดิ์โทรศัพท์ไปสอบถามเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามทราบว่าไม่มีคำสั่งให้จับกุมผู้ร้องที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมคนร้าย โดยไปดักซุ่มที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นจุดนัดหมายส่งมอบเงิน และพบจำเลยที่ 3 กับนายมานิตขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีออส สีดำ หมายเลขทะเบียน กน 1202 สงขลา มายังจุดนัดหมาย มีการลดกระจกรถลงใกล้ผู้ร้องที่ 1 เพื่อพูดคุย เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าจับกุมจำเลยที่ 3 และนายมานิต แล้ววางแผนให้นายมานิตโทรศัพท์แจ้งนายมนูญให้ไปพบกันที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จากนั้นนำตัวจำเลยที่ 3 พร้อมกับนายมานิตไปซุ่มรอที่จุดนัดหมายและสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ขณะจอดรถจักรยานยนต์ที่หน้าจุดนัดหมายดังกล่าว ส่วนนายมนูญและจำเลยที่ 2 เมื่อขับรถยนต์ไปถึงจุดนัดหมายแล้วได้ขับรถหลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถตามไปจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนนายมนูญหลบหนีไปได้ โดยขณะเจ้าพนักงานตำรวจวิ่งไล่จับนายมนูญและจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ในรถได้หลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 3 และสามารถจับกุมตัวได้ในเวลาต่อมา ชั้นสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โจทก์มิได้ฎีกาในฐานความผิดดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้ร้องที่ 2 นางสาวจิราพร และนายจิรศักดิ์ เป็นประจักษ์พยานเบิกความสอดคล้องกันโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธยืนยันว่า วันเกิดเหตุมีนายมนูญซึ่งแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่ามาขอตรวจสอบเรื่องรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไป โดยมีนายมานิต และจำเลยที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุด้วย แล้วใส่กุญแจมือผู้ร้องที่ 2 นำตัวขึ้นรถยนต์แจ้งว่าจะพาไปสถานีตำรวจ จากนั้นผู้ร้องที่ 1 ได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าให้หาเงินมาแลกกับอิสรภาพของผู้ร้องที่ 2 พยานทั้งสามยังเบิกความยืนยันด้วยว่าจำเลยที่ 1 และนายมนูญแต่งกายด้วยเสื้อแจ๊กเก็ตสีดำมีป้ายคล้องคอลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ของเจ้าพนักงานตำรวจ อีกทั้งนายจิรศักดิ์และผู้ร้องที่ 2 ต่างยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใส่กุญแจมือผู้ร้องที่ 2 ลักษณะการแต่งกายและพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าตนเคยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจรุ่นเดียวกับนายมนูญ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ต้องรู้ว่าปัจจุบันนายมนูญไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว อีกทั้งต้องทราบถึงอำนาจหน้าที่และวิธีปฏิบัติการเข้าควบคุมตัวผู้กระทำความผิดว่าต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายมนูญชักชวนจำเลยที่ 1 ไปติดตามรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักและเข้าควบคุมตัวผู้ร้องที่ 2 ไปด้วยนั้น ล้วนมีลักษณะปฏิบัติการเช่นเดียวกับผู้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งที่จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าตนมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น จึงเป็นการกระทำที่มิชอบ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าการที่จำเลยที่ 1 ใส่กุญแจมือผู้ร้องที่ 2 แล้วพาขึ้นรถเป็นการใช้ทักษะในการควบคุมผู้ต้องหาในฐานะผู้ช่วยของเจ้าพนักงานนั้น เป็นการเลื่อนลอยและขัดต่อเหตุผล น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายมนูญแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังและร่วมกันกรรโชกทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้ร้องที่ 2 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าระหว่างที่ถูกคนร้ายควบคุมตัวนั้น นายมนูญให้ผู้ร้องที่ 2 โทรศัพท์แจ้งให้มารดานำเงินมาไถ่ตัวมิฉะนั้นจะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้องที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่และได้ยินการสนทนาทั้งหมดด้วย การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับนายมนูญแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยใส่กุญแจมือผู้ร้องที่ 2 และนำผู้ร้องที่ 2 ขึ้นรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 จอดติดเครื่องยนต์รออยู่และขับรถไปตามเส้นทางที่นายมนูญบอก ระหว่างทางขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถและจำเลยที่ 1 อยู่ร่วมภายในรถนั้นนายมนูญได้โทรศัพท์เรียกเงินจากผู้ร้องที่ 1 เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้องที่ 2 ซึ่งสามัญชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 2 น่าจะท้วงติงโดยการปฏิเสธหรือพยายามหลีกเลี่ยงการร่วมเดินทางหรือขับรถให้กลุ่มคนร้ายในทันที ประกอบกับหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว นายมนูญไม่น่าจะกล้าโทรศัพท์เรียกเงินจากผู้ร้องที่ 1 เพื่อแลกกับอิสรภาพของผู้ร้องที่ 2 ขณะที่มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ภายในรถยนต์ด้วย และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจขับรถไล่ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 และนายมนูญ จำเลยที่ 2 ก็น่าจะรีบจอดรถแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่กลับขับรถพานายมนูญหลบหนี ทั้งเมื่อถึงทางตันก็ยังวิ่งหลบหนีไปพร้อมกับนายมนูญ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบเจือสมว่าตนเข้าไปพัวพันในเหตุการณ์ต่าง ๆ จริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนายมนูญเป็นตัวการร่วมกันวางแผนหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ร้องที่ 2 เพื่อกรรโชกทรัพย์ผู้ร้องที่ 1 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อนายมนูญกับพวกโทรศัพท์เรียกเงินจากผู้ร้องที่ 1 เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้องที่ 2 แล้วผู้ร้องที่ 1 แจ้งว่าขอเวลาหาเงินก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 เกิดความกลัวตามที่นายมนูญขู่เข็ญจึงยินยอมที่จะให้เงินตามที่ถูกขู่เข็ญ แม้ต่อมาจะมีการแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อวางแผนจับกุมก่อนที่ผู้ร้องที่ 1 แจ้งกลุ่มคนร้ายว่าเตรียมเงินไว้พร้อมส่งมอบ ก็เป็นการกระทำภายหลังจากที่มีการตกลงยอมให้เงินตามที่ถูกขู่เข็ญแล้ว มิใช่ผู้ร้องที่ 1 มอบเงินให้เพราะมีการวางแผนจับกุมโดยไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามคำขู่เข็ญแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ร้องที่ 2 และฐานกรรโชกทรัพย์ผู้ร้องที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้มา โดยผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ฎีกามาด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข โดยมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 คนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ สำหรับจำเลยที่ 3 ให้เลื่อนไปโดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 เสร็จแล้วส่งคืนมาศาลฎีกาเพื่อพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9