คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับนายประสิทธิ์ นายบัณฑิต นายประวีณ นายภัทรภูมิ นายราเชนทร์ นายศฤงคาร นายวสันต์ นายอัครชัย และนายสุภกิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 10 ต่อศาลชั้นต้น ในความผิดฐานร่วมกันทุจริตในการเบิกเงินค่าจ้างเหมาปลูกป่า ปีงบประมาณ 2548 ตามโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ป่าแม่สรอย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 เนื่องจากสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 5 มีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าไม่ไปตามนัด มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าตามหมายจับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ในข้อหาความผิดดังกล่าวภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2548 แต่ไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม 2563
วันที่ 14 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากหมายจับดังกล่าวใกล้จะครบกำหนดตามที่ระบุในหมายแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่า ศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าแล้วอันเป็นการกระทำผิดในคราวเดียวกับที่ขอออกหมายจับใหม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าหมายจับเดิมเป็นกรรมแรก แต่ไม่สามารถชี้แจงให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ หมายจับเดิมจึงยังคงมีผลบังคับใช้ ไม่มีเหตุออกหมายจับใหม่ ให้ยกคำร้อง
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าต่อศาลชั้นต้นอีก ศาลชั้นต้นเห็นว่า ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับการจ้างในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยพื้นที่ป่าแม่สรอย แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าทุจริต เข้าดำเนินการเป็นผู้รับจ้างปลูกป่าเสียเองโดยเชิดบุคคลอื่นเป็นผู้รับจ้าง ความจริงผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าเป็นผู้จัดหากล้าไม้ ปุ๋ย กำหนดพื้นที่ปลูก จัดหาคนปลูกโดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน ฯลฯ และเป็นผู้ตรวจรับงานและเบิกค่าจ้างเอง มีวัตถุประสงค์จะเอาเงินดังกล่าวจากค่าใช้จ่ายเป็นของตน แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามีเจตนาทุจริตมาตั้งแต่การจัดหาคนมาทำสัญญาจ้าง สัญญาจ้างทำวันที่ 15 สิงหาคม 2548 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันเริ่มต้นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) ครบอายุความในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ที่ผู้ร้องอ้างว่า อายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าครบองค์ประกอบความผิดคือวันที่ตรวจรับงานนั้น การตรวจรับงานเป็นส่วนหนึ่งหรือขั้นตอนหนึ่งในการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องเงินของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าที่ลงมือกระทำความผิดไปตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2548 แล้ว ลำพังการตรวจรับงานไม่ใช่การกระทำความผิดในตัวเอง จึงไม่ใช่วันเริ่มนับอายุความ คดีขาดอายุความจึงไม่อาจออกหมายจับได้ ให้ยกคำร้อง
วันที่ 19 กันยายน 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าต่อศาลชั้นต้น อ้างเหตุว่าผู้ร้องได้มีมติในการประชุมในวันที่ 17 กันยายน 2563 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ นอกจากวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาจ้างแล้วยังคงกระทำความผิดต่อเนื่องไป โดยวันที่ 1 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2548 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าตรวจรับงานจ้างที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จอันเป็นเท็จ และกระทำความผิดจนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินตามโครงการระหว่างวันที่ 22 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนแต่ละกรณีเบิกถอนเงินอ้างว่าเพื่อให้ผู้รับจ้างทั้งที่ตนเป็นผู้ดำเนินการเอง คดีจึงไม่ขาดอายุความ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าทราบวันนัดมารายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องแต่ไม่มา มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติว่า ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ กรณีจึงมีเหตุออกหมายจับ ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้องและบันทึกคำให้การพยานผู้ร้องเพิ่มเติมว่า สอบผู้ร้องแล้วได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 10 ร่วมกระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเพิ่มเติมจากครั้งก่อนหน้านี้ แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ก่อนหน้านี้ผู้ร้องยื่นคำร้องมาแล้วหลายครั้ง พิจารณาแล้วไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับลงวันที่ 19 กันยายน 2563 ของผู้ร้อง และมีคำสั่งออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เดิมผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายจับเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และศาลออกหมายจับให้ผู้ร้องในวันดังกล่าวแล้ว โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้ง ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ใหม่อีก อ้างเหตุผลเดิม ศาลเห็นว่าได้ออกหมายจับให้แล้ว จึงยกคำร้อง หลังจากนั้นวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องยื่นขอออกหมายจับเป็นครั้งที่ 3 ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 (ที่ถูก วันที่ 19 กันยายน 2563) ผู้ร้องยื่นเป็นครั้งที่ 4 ศาลเรียกสอบ ผู้ร้องแถลงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 10 ร่วมกระทำความผิดมาตั้งแต่เริ่มต้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเพิ่มเติมจากครั้งก่อนหน้านี้ ตามคำให้การลงวันที่ 19 กันยายน 2563 จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง ซึ่งในกรณีนี้เป็นอำนาจของผู้พิพากษานายเดียวที่มีอำนาจสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 นั้น เห็นว่า เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ทั้งไม่มีบทเฉพาะกาล ไม่อาจนำมาบังคับกับกรณีนี้ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้เพิกถอน ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า หมายจับเป็นหมายอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในภาค 1 ลักษณะ 4 หมวด 2 เมื่อตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา.... ดังนั้นผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับได้ รวมทั้งให้หมายความถึงมีอำนาจพิจารณาการยกคำร้องขอออกหมายจับโดยพิจารณาว่าคดีอาญาตามที่ขอออกหมายจับนั้นขาดอายุความหรือไม่ ทั้งนี้ ในการออกหมายจับนั้นต้องพิจารณาประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการออกหมายจับนั้น ผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาออกหมายจับมีอำนาจที่จะพิจารณาว่า คดีที่จะออกหมายจับนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย การสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความนั้น ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า ลงวันที่ 19 กันยายน 2563 ผู้ร้องระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามีพฤติการณ์กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ซึ่งเหตุเกิดระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 โดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) และผู้ร้องฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยได้หลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้บังคับ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ออกหมายจับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยระบุให้ดำเนินการตามหมายนับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2548 แต่ไม่เกินวันที่ 15 สิงหาคม 2563 จึงต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าคนหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี และมีผลตามมาตรา 7 คือมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป อายุความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าคนจึงสะดุดหยุดอยู่จนกว่าจะได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาดำเนินคดี ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับวิธีนับอายุความ และไม่ขัดต่อการนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะไม่มีผลเป็นการขยายอายุความ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าหลบหนี ความผิดที่ผู้ร้องขอออกหมายจับจึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การนับอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ดังกล่าวแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว... เมื่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า และการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ทั้งที่ผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า จึงต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามากกว่า ไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้ ดังนี้ แม้ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2548 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2548 ซึ่งอายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าแต่ละคนกระทำความผิดกรรมที่ยาวที่สุดนั้น แต่เมื่ออายุความสำหรับความผิดที่ผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) กำหนดไว้ 15 ปี ซึ่งจะครบกำหนดอย่างช้าที่สุดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างคือ สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในวันที่ 29 กันยายน 2563 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ในวันที่ 26 กันยายน 2563 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ในวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2563 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 และที่ 10 ในวันที่ 28 กันยายน 2563 ตามลำดับ แต่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 โดยศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ล่วงพ้นระยะเวลา 15 ปี สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 7 ถึงที่ 10 แล้ว ทั้งเมื่อนับถึงวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษานั้นได้ล่วงพ้นระยะเวลา 15 ปี สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องโดยให้เหตุผลไว้ละเอียดแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน