โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงินคืนจำนวน 1,150 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงินคืนจำนวน 1,150 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 1,150 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 โจทก์บรรยายว่าจำเลยโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จผ่านทางโปรแกรมเฟซบุ๊กชื่อบัญชีตามฟ้อง เสนอขายสินค้า ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายสินค้าดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาด้วยว่าเป็นการหลอกลวงเสนอขายสินค้าต่อประชาชนอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และไม่ได้บรรยายว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันถือเป็นองค์ประกอบความผิด ส่วนบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง โจทก์ก็ไม่บรรยายว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อันจะถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน และการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนด้วย โจทก์จึงบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ศาลล่างทั้งสองย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ตามคำขอท้ายฟ้อง และปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้มาด้วย ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่พฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นการกระทำต่อบุคคลใดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาย่อมพิจารณาลงโทษจำเลยในฐานความผิดตามฟ้องได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยหลอกลวงขายโคมไฟและเตียงต่อขนตาตามฟ้องให้แก่ผู้เสียหายเป็นการกระทำความผิด 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันและเวลาเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจจะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงโดยส่งข้อความเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้เสียหายผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องรวม 2 ครั้ง และผู้เสียหายซื้อสินค้าต่างชนิดกัน 2 ครั้ง อันเป็นกรณีที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหายในการซื้อสินค้าต่างชนิดกันรวม 2 ครั้ง จึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน ตามฟ้องก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายโดยส่งข้อความผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กเพื่อให้ผู้เสียหายดูสินค้า 2 ชนิดนั้นในคราวเดียวกัน และได้เงินค่าสินค้า 2 ชนิดจากผู้เสียหายในคราวเดียวกัน อันจะถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกระทงเดียว และไม่ใช่กรณีมีเหตุสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดในคราวเดียวที่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กระทง นั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้กระทำต่อประชาชนทั่วไป หากกระทำต่อผู้เสียหายคนเดียว เช่นนี้ จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายเป็นการเฉพาะตัวโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยหลอกลวงบุคคลอื่นใดในทำนองนี้อีก และเงินที่หลอกลวงไปจากผู้เสียหายก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อย บิดาจำเลยได้วางเงิน 1,150 บาท ที่จำเลยฉ้อโกงไปจากผู้เสียหายให้ผู้เสียหายมารับไปจากศาลแล้ว นอกจากนั้นจำเลยยังวางเงินบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอีก 5,000 บาท ส่อแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดและพยายามบรรเทาผลร้าย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยในการกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งด้วยการรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ให้ลงโทษฐานฉ้อโกง จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 2 กระทง เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 2,500 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์