โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2512 เวลากลางวัน จำเลยใช้มีดฟันนายยอดจันทร์ ทองแก้ว โดยเจตนาฆ่าถูกที่ก้านคอ หู ศรีษะและแก้ม ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลปลักหนู อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และสั่งริบมีดของกลาง
จำเลยให้การว่า ฟันนายยอดจันทร์ตายจริง เพราะบันดาลโทสะ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่บันดาลโทสะพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี ปรานีลดโทษตามมาตรา 78 ให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลย 15 ปีมีดของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72คงจำคุก 9 ปี ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงเหลือจำคุก 6 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นบันดาลโทสะ
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้มีดพร้าถางป่าฟันผู้ตายมีบาดแผลตามรายงานชันสูตรพลิกศพจริง ส่วนปัญหาที่ว่าผู้ตายได้ด่าจำเลยก่อนเกิดเหตุหรือไม่ นั้นนายเอียดพยานโจทก์ก็เบิกความเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลย น่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า ในวันเกิดเหตุผู้ตายมาทวงค่าพระเครื่องที่จำเลยไม่ได้ซื้อจากจำเลย จำเลยปฏิเสธ ผู้ตายก็ด่าจำเลยว่า "มึงอย่าหมา มึงเอาจริง ถ้าอย่างงั้นมึงลูกแม่ไม่สอน หมาเย็ดแม่" เมื่อลงเรือนไปแล้วผู้ตายก็ยังด่าถึงบิดามารดาจำเลยเรื่อยไป ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ตายด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายก้าวร้าวถึงบิดามารดาจำเลยบนเรือนแม่ยายจำเลย จำเลยไม่โกรธ แต่เมื่อผู้ตายลงจากเรือนไปแล้วยังด่าแล้วด่าอีกถึงบิดามารดาจำเลยต่อเนื่องกันตลอดเวลา นับว่าเป็นพฤติการณ์ถึงขนาด อันถือได้ว่าเป็นการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการถูกข่มเหงหาได้ขาดตอนไปแล้วดังที่โจทก์ฎีกาไม่ การที่ผู้ตายด่าแล้วด่าอีกดังกล่าวจนจำเลยอดโทสะไม่ได้ใช้มีดฟันผู้ตายไปนั้น จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามมาตรา 72 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน