โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 93 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 62 จัตวา, 106, 106 จัตวา พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 6, 88, 93, 140, 142, 168 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 276, 295, 309, 310, 337, 358 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2943/2561 ของศาลจังหวัดชลบุรี
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานางสาว อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา พยายามกรรโชกทรัพย์ ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำให้เสียทรัพย์
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 5,460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (เดิม), 309 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 ปี ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด จำคุกกระทงละ 3 เดือน 2 กระทง จำคุก 6 เดือน รวมทุกกระทงเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้จำเลยชำระเงิน 1,020,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ร่วม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ ข้อหาอื่นและคำขอคดีส่วนแพ่งอื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2943/2561 ของศาลจังหวัดชลบุรีนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสาม รวมทุกกระทง คงจำคุก 12 เดือน และให้จำเลยชำระเงิน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมฎีกาในคดีส่วนแพ่ง โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยรู้จักคบหากันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์ร่วมแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยนำเงิน 200,000 บาท มาวางศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ข่มขืนกระทำชำเรา หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ พยายามกรรโชก ทำให้เสียทรัพย์ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ยกเว้นการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.39 และข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด ยกเว้นการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.7 และข้อ 1.29 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดตามฟ้องข้อ 1.7 และข้อ 1.29 และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามฟ้องข้อ 1.39 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมมีว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายจากการขาดรายได้ที่ต้องเสียความสามารถประกอบการงานให้แก่โจทก์ร่วมต่ำไปหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ร่วมนำสืบว่า โจทก์ร่วมประกอบอาชีพรับจ้างรีวิวสินค้าประเภทเครื่องสำอางและเป็นพิธีกรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีรายได้รวมประมาณเดือนละ 60,000 ถึง 100,000 บาท โดยโจทก์ร่วมมีนาย ส. เพื่อนของโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานรู้จักกับโจทก์ร่วมมานานประมาณ 8 ปี เดิมโจทก์ร่วมเคยต้องมายืมเงินจากพยาน แต่ภายหลังจากที่โจทก์ร่วมประกอบอาชีพดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมมีฐานะดีขึ้นมาก เคยซื้อของฝากที่มีราคาแพงมาให้พยาน ทั้งโจทก์ร่วมยังมีเงินซื้อคอนโดมิเนียม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าโจทก์ร่วมจะมีรายได้สูงเช่นนั้น อย่างต่อเนื่องเป็นประจำหรือไม่ อีกทั้งระยะเวลาที่รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อโจทก์ร่วมมีระยะเวลาประมาณกลางเดือนธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามสมควรแล้ว และแม้การกระทำของจำเลยอาจมีพฤติการณ์ที่ร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมต้องเสียชื่อเสียงตามที่โจทก์ร่วมฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์ก็ได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนที่เสียชื่อเสียงให้แก่โจทก์ร่วมอีกต่างหากด้วยอยู่แล้ว ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายจากการขาดรายได้ที่ต้องเสียความสามารถประกอบการงานให้แก่โจทก์ร่วมตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นนั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก นั้น ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและบวกด้วยอัตราเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรกไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ