โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 52, 53/1 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 25 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8, 9, 83, 91, 199, 290, 309, 310, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี,313 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยร่วมกับพวกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายรวมทั้งสิ้น 60 ราย แยกตามกลุ่มอายุ ดังนี้ กลุ่มผู้เสียหายอายุไม่เกินสิบห้าปี รวม 7 ราย กลุ่มผู้เสียหายอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี รวม 13 ราย กลุ่มผู้เสียหายอายุเกินสิบแปดปี รวม 40 ราย
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) (2), 25 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 6 (1) (เดิม), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 52 วรรคหนึ่ง (เดิม)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบแปดปี และเป็นการร่วมกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไปหรือกระทำโดยสมาชิกองค์กรอาชญากรรม ซึ่งต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จำคุก 9 ปี และยังเป็นความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์กระทงข้างต้นเป็นความผิดที่ลงมือกระทำตามที่ได้สมคบกันตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคสอง จำคุก 6 ปี อีกกระทงหนึ่งด้วย รวมจำคุก 19 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กลุ่มผู้เสียหายอายุไม่เกินสิบห้าปี รวม 7 ราย กลุ่มผู้เสียหายอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี รวม 13 ราย กลุ่มผู้เสียหายอายุเกินสิบแปดปี รวม 39 ราย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปีและได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบ ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 52 วรรคสองและวรรคสาม (เดิม) ด้วย เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี และฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี แต่ละกระทงดังกล่าวเป็นการร่วมกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตั้งแต่สามคนขึ้นไป หรือกระทำโดยสมาชิกองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้เสียหายที่ถูกพาเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดแต่ละกระทง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 10 วรรคสาม ประกอบมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี จำคุก 16 ปี ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 20 ปี ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปีและได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบ จำคุก 8 ปี ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบ จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 73 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้ยกคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายมาฮาหมัด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฐานร่วมกันให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่และเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามฟ้องข้อ 2.5 ข้อ 2.6 ข้อ 2.8 และข้อ 2.9 หรือไม่ เห็นว่า การร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นั้น ต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งหมายถึงต้องร่วมกระทำความผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งผู้กระทำความผิดต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกัน กับต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของโจทก์ฟังได้เพียงว่า จำเลยทำหน้าที่ยักย้ายถ่ายเทเงินที่ได้มาจากการค้ามนุษย์คนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาจากกลุ่มของนายณัฐภัทร นางศศิธร นางจันทรา และนางสาวนัยนา เพื่อให้กลุ่มของนายณัฐภัทร นางศศิธร นางจันทรา และนางสาวนัยนา กับพวกในกลุ่มเครือข่ายดำเนินการค้ามนุษย์คนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจา ได้รับประโยชน์จากการค้ามนุษย์ โดยจำเลยมิได้ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาเข้ามาในราชอาณาจักร ร่วมกันให้คนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ร่วมกันข่มขืนใจคนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาโดยใช้อาวุธ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังคนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจา ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังคนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังคนต่างด้าวชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่และเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานดังกล่าวในลักษณะของตัวการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมาฮาหมัด ผู้เสียหายที่ 25 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 47 ฎีกาต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 33-43/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า นายมาฮาหมัด มีส่วนร่วมในขบวนการค้ามนุษย์ทำหน้าที่เป็นผู้คุมและขนเสบียงอาหาร นายมาฮาหมัด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคดีดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายมาฮาหมัด จึงไม่ถูกต้อง แต่ฎีกาโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ทั้งยังมีลักษณะเป็นเงื่อนไขที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.5 ข้อ 2.6 ข้อ 2.8 และข้อ 2.9 หรือไม่ จึงจะวินิจฉัยว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 25 เต็มตามจำนวนคำขอของโจทก์หรือไม่ ฎีกาโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาและรับฎีกาโจทก์ข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยยังไม่ได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ