โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งปันเงินจากบัญชีเงินฝากแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,616,666.67 บาท รวมเป็นเงิน 4,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากแต่ละบัญชีตั้งแต่วันเปิดบัญชีถึงวันฟ้องและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,850,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ครบถ้วน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 8395/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินในบัญชีเงินฝากตามฟ้องข้อ 3.1 ถึง 3.7 ให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,616,666.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินในบัญชีต่าง ๆ ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 6 ส่วน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,616,666.67 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสามคนละ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งสาม จำเลย นายประเวช และนายประสิทธิ์ เป็นบุตรของนายกิมแคกับนางอัมพร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2546 นายกิมแคและนางอัมพรถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด ทายาทของบุคคลทั้งสองมีการประชุมเพื่อตกลงแบ่งมรดก แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์ทั้งสามจึงยื่นฟ้องจำเลย นายประเวชและนายประสิทธิ์ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 8083/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 8395/2547 ขอแบ่งมรดกของนายกิมแคและนางอัมพร ซึ่งโจทก์ทั้งสามระบุว่ามีที่ดินและเงินฝากในบัญชีซึ่งระบุชื่อจำเลยร่วมกับนายกิมแคและนางอัมพรซึ่งมีเงินฝากในบัญชีประมาณ 11,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้จำเลยกับพวกแบ่งเงินฝากในบัญชีที่จำเลยมีชื่อกับนายกิมแคและนางอัมพรให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทตามส่วน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ 8395/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยกับพวกขอแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทของนายกิมแคและนางอัมพร ซึ่งคดีดังกล่าวแม้โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้จำเลยกับพวกแบ่งเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ และที่ดิน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายกิมแคและนางอัมพร แต่สำหรับเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีในคดีนี้ เป็นคนละส่วนกับเงินฝากในคดีดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยได้ปิดบังไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาททราบว่ามีบัญชีเงินฝากของนายกิมแคและนางอัมพรทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าวอยู่ก่อนที่โจทก์ทั้งสามจะได้ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือนำสืบหักล้างว่าโจทก์ทั้งสามได้ทราบมาก่อนหน้านั้นแล้วว่าบัญชีเงินฝากต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งสามขอแบ่งในคดีนี้นั้น โจทก์ทั้งสามทราบอยู่แล้วว่ามีอยู่ก่อนที่จะฟ้องคดีที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า โจทก์ทั้งสามเพิ่งทราบความมีอยู่ของเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้อง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยแบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีเป็นคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะยังมิได้วินิจฉัย แต่เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยในข้อ 1 จำเลยกล่าวอ้างว่า นายกิมแคและนางอัมพรยกกรรมสิทธิ์ของเงินฝากตามบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีให้แก่จำเลยแล้ว แต่ในข้อ 2 จำเลยกลับกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ในเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชีแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเอง คำให้การของจำเลยในส่วนนี้ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็น ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสามไม่เคยทราบถึงเรื่องที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองดูแลเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชี เพราะมิฉะนั้น หากโจทก์ทั้งสามทราบว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองบัญชีและเงินฝากตามบัญชีทั้งเจ็ดบัญชีดังกล่าว โจทก์ทั้งสามคงจะรีบดำเนินการเพื่อฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกเหมือนเช่นที่ฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8395/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ น่าจะไม่ปล่อยปละละเลยจนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 จึงได้ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 7 ปีเศษ ประกอบกับระหว่างที่มีการประชุมทายาทเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยเคยพูดยอมรับว่า ทรัพย์มรดกที่ตนเองครอบครองนั้น ครอบครองไว้แทนทายาทคนอื่น ๆ โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกิมแคและนางอัมพรจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งเงินในบัญชีเงินฝากทั้งเจ็ดบัญชีตามฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง แม้จะยื่นฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่ทราบว่านายกิมแคและนางอัมพรถึงแก่ความตาย คดีของโจทก์ทั้งสามไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความใช้แทนโจทก์แต่ละคนคนละ 20,000 บาท