คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนหรือร่วมกันโอนทรัพย์พิพาทรวม 7 รายการ คือ 1. ห้องชุดเลขที่ 77/130 อาคารชุด ส. อาคารเลขที่ 1 มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 2. หุ้นบริษัท ภ. รวม 9,545,400 หุ้น มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น 3. ที่ดินโฉนดเลขที่ 1794 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 4. ที่ดินโฉนดเลขที่ 211444 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 5. ที่ดินโฉนดเลขที่ 83709 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 6. ห้องชุดเลขที่ 77/150 อาคารชุด ส. มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และ 7. ห้องชุดเลขที่ 140/211 และ 140/212 อาคารชุด ท. มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ 6 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสินธุ์ ผู้ตาย เพื่อแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8 ใน 14 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสองคนละ 1 ใน 14 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์พิพาททั้งเจ็ดรายการออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งให้ตามส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสองแต่ละคนจะได้รับ จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการแจ้งจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท และให้กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. รับจดแจ้งการโอนหุ้นและจดลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น กับให้เจ้าพนักงานที่ดินที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์พิพาทดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาททั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 6 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่ง ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เนื่องจากเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลฎีกา ทั้งคำร้องดังกล่าวไม่ใช่คำขออันจะทำได้แต่ฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อนเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำสั่งอนุญาตถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ในการให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ที่ 6 กับให้กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภ. จดแจ้งการโอนหุ้นและจดลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดว่า ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีให้เป็นไปคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทุกชั้นศาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นในชั้นต้น และมาตรา 357 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล" ตามบทบัญญัติมาตรา 271 และมาตรา 357 ดังกล่าวแม้เป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือนับแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่คดีทั้งคดีที่ค้างมาก่อนการแก้ไขกฎหมายและคดีฟ้องใหม่นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป เพียงแต่ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาของศาลและกระบวนวิธีการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้ยังมิได้กระทำการใดเกี่ยวกับกระบวนวิธีการบังคับคดี การบังคับคดีจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมาใช้บังคับ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองโอนหรือร่วมกันโอนทรัพย์พิพาททั้ง 7 รายการ ให้แก่โจทก์ที่ 6 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสินธุ์ ผู้ตาย เพื่อแบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 8 ใน 14 ส่วน โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสอง คนละ 1 ใน 14 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคากันระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์พิพาททั้ง 7 รายการ ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งให้ตามส่วนที่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองแต่ละคนจะได้รับ แต่จำเลยทั้งสองไม่โอนทรัพย์พิพาททั้ง 7 รายการ ให้แก่โจทก์ที่ 6 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และทรัพย์พิพาททั้ง 7 รายการ มีชื่อจำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตาย โดยคำพิพากษาของศาลดังกล่าวมิได้สั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองไว้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นการบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยทั้งสองกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คำร้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 นั้น เป็นคำร้องที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้บัญญัติว่าให้ทำได้แต่ฝ่ายเดียวโดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) บัญญัติห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองและมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจดทะเบียนให้นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า "อนุญาต" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 โดยมิได้มีการส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองได้มีโอกาสคัดค้านก่อน ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 แต่เมื่อยังไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) ก่อน ถือว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการบังคับคดี กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นมานั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2562 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่