โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271, 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ลงโทษจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ยกคำขอให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ และคุณภาพอันเกี่ยวกับสินค้า โฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา"" ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยมีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว โดยเสนอขายและขายแก่ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปในราคาชุดละ 299 บาท ทั้งนี้ เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ หรือเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงสำนักราชเลขาธิการไม่เคยอนุญาตให้จำเลยใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กับสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ จำเลยแสวงหาผลกำไรและประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยมิชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 บัญญัติว่า "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ..." เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ประกอบมาตรา 271 ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการกระทำโดยการหลอกลวงซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดมาตรา 271 เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายระบุการกระทำหรือวิธีการหลอกลวงไว้แล้วว่า จำเลยโฆษณา เสนอขาย และขายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติ โดยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายอย่างถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ อันเป็นความเท็จ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าการหลอกลวงขายของของจำเลยคือการที่จำเลยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ลงบนกล่องสินค้าโดยที่รู้อยู่แล้วว่าความจริงมิได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ในการขาย แต่ทำไปเพื่อหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายโดยถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ จึงถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยขณะนั้นจำเลยยังไม่มีทนายความว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และตามคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 โดยจำเลยได้แต่งตั้งทนายความในวันดังกล่าวแล้วปรากฏว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ รายละเอียดจะได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นพิจารณาต่อไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบข้อเท็จจริงและข้อหาตามคำฟ้องแล้ว จึงให้การปฏิเสธ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่า จำเลยแถลงว่า วันนี้ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดีแล้ว และได้พบปรึกษากับทนายความแล้ว ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยแถลงว่าเข้าใจข้อหาโดยตลอดแล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบถ้วนพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่เป็นการหลอกลวง เป็นฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ไม่ครบถ้วนพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้อง แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเนื่องจากโจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาด้วย เพื่อมิให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยล่าช้า จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาตามอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 บัญญัติว่า "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ..." คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีการจำหน่ายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา"" ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี"ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯสติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยมีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว เสนอขายและขายในราคาชุดละ 299 บาท โดยได้ความจากพยานโจทก์ปากนายณพลและนาวาโทหญิงอุไรวรรณว่า พยานทั้งสองปากเห็นกล่องสินค้าแบบเดียวกับวัตถุพยานแล้วเห็นว่ามีคุณค่าในการเก็บรักษาเพื่อบูชา และเชื่อว่าน่าจะมีการใช้ตราสัญลักษณ์กับสินค้าโดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง พยานจึงรับสินค้าไปจำหน่าย แสดงให้เห็นว่ามีผู้ซื้อสินค้าโดยหลงเชื่อว่าสินค้าแบบเดียวกับวัตถุพยาน ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดอยู่ที่ตัวสินค้า เป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์และจำหน่ายได้โดยถูกต้อง ทั้งที่ความจริงสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการให้ใช้ตราสัญลักษณ์ในการผลิตและจำหน่าย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่นำมาใช้กับสินค้าดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าที่ประชาชนหรือผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยเป็นการบ่งบอกถึงแหล่งที่มาของสิ่งของที่บรรจุในกล่องสินค้านั้นว่าเป็นสิ่งของที่ได้รับการตรวจสอบจากสำนักราชเลขาธิการแล้วว่ามีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึก เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และอนุญาตให้ติดตราสัญลักษณ์ดังกล่าวลงบนกล่องสินค้าได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย การที่มีบุคคลนำตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้กับสินค้าแล้วขายให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมแสดงถึงเจตนาที่ต้องการให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง ย่อมเป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดของสินค้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การกระทำเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้า ตามฟ้องเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ เป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 271
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพระอธิการชัยรัตน์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอนมาเบิกความว่า ภายหลังสำนักราชเลขาธิการมีหนังสือแจ้งอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งระบุว่าห้ามนำไปใช้ในการโฆษณาหรือแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้นแล้ว พระอธิการชัยรัตน์มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำหนังสือ "ชีวิตสมถะ" และจัดสร้างพระผงตามที่ได้รับอนุญาต รวมถึงให้ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งานสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย การจัดทำหนังสือและพระผงดังกล่าวเพื่อนำไปแจกให้แก่ผู้มีจิตศรัทธามาฟังการแสดงพระธรรมเทศนาตามหนังสือแต่งตั้งจำเลยดังกล่าวเป็นการมอบหมายให้ไปดำเนินการ ไม่ได้มีการพูดถึงเกี่ยวกับการจัดหารายได้ และโจทก์มีนายนวธร ญาติของจำเลย มาเบิกความว่า ประมาณปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 พยานได้รับแจ้งจากจำเลยว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิตชุดหนังสือ "ชีวิตสมถะ" ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 1 เล่ม สายรัดข้อมือ พระผง ภาพในหลวง สติกเกอร์ และซีดี เป็นต้น อยู่ในกล่อง โดยจำเลยบอกว่าได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการให้นำออกจำหน่ายได้ ให้พยานช่วยงานในส่วนการประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่าย พยานจึงประสานงานกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยนำกล่อง ไปให้ดูและแจ้งว่าจะจัดจำหน่ายในราคา 299 บาท ซึ่งบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ตกลงว่าจะจัดจำหน่ายให้ กับโจทก์มีนายวัฒนา หัวหน้าส่วนบริการสินค้าฝากขายบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มาเบิกความว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีผู้มาฝากขายหนังสือ "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" โดยมีหนังสือขอความร่วมมือจากจำเลยในฐานะประธานดำเนินการโครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีหนังสือแจ้งตอบรับการรับฝากจำหน่ายไปยังจำเลย ซึ่งต่อมาจำเลยมีหนังสือตอบรับเงื่อนไขการจัดจำหน่ายการแบ่งรายได้ และการจ่ายเงินค่าสินค้า จากนั้นโครงการของจำเลยได้ส่งชุดหนังสือ รวม 3,000 ชุด มาให้วางจำหน่ายที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศประมาณ 300 แห่ง ในการจำหน่ายจะมีการตัดยอดให้แก่โครงการของจำเลยเป็นรายเดือน และต่อมามีการจัดส่งมาให้วางจำหน่ายอีกประมาณ 5,000 ชุด บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โอนเงินรายได้ให้แก่โครงการของจำเลยเป็นเงิน 900,000 บาทเศษ จำเลยในฐานะประธานโครงการได้มอบอำนาจให้นายนวธรเป็นผู้รับเงินจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เห็นได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมดในส่วนนี้เชื่อมโยงสอดคล้องกัน รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าชุดเทิดพระเกียรติเพื่อร่วมเผยแพร่แสดงความจงรักภักดี "โครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา"" ซึ่งในชุดประกอบด้วย หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" สายรัดข้อมือ (ริสต์แบนด์) วิดีโอซีดีพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สติกเกอร์ "เรารักในหลวง" บัตรถวายพระพร บัตรคาถาเงินล้าน สติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ทรงครองราชย์ 60 ปี และพระจิตรลดาหรือพระสมเด็จมหามงคล รุ่นทรงครองราชย์ 60 ปี (มวลสารจิตรลดา) รวม 9 รายการ ที่มีการพิมพ์ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ติดไว้บนสินค้าดังกล่าว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากพยานโจทก์ปากนาวาโทหญิงอุไรวรรณ ผู้เคยรับสินค้าไปจำหน่ายต่อ ว่า พยานเคยพบกับจำเลยที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยจำเลยนำเอกสารที่อ้างว่าได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการมาให้พยานดู จำเลยยืนยันว่าได้รับอนุญาตโดยถูกต้องและได้ความจากพยานโจทก์ปากนายณพล ผู้ซื้อสินค้าจากจำเลยนำไปจำหน่ายต่อ ว่าพยานเคยพบจำเลยที่สำนักงานของโครงการตามแผ่นพับโฆษณาที่จัดจำหน่ายชุดหนังสือ "ชีวิตสมถะ" ซึ่งพยานได้ขอดูเอกสารว่าได้รับอนุญาตโดยถูกต้องหรือไม่พยานตรวจสอบแล้วเข้าใจว่าจำเลยได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง จึงรับไปจำหน่ายต่อ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อสินค้าหลงเชื่อว่าสินค้าได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวโดยถูกต้องจากสำนักราชเลขาธิการ และเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวประกอบทางนำสืบจำเลย ที่จำเลยเบิกความรับว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอนให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทำชุดเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 9) ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยจัดทำหนังสือ "ชีวิตสมถะ" และพระผงสมเด็จมหามงคล ซึ่งตามหนังสือแต่งตั้งดังกล่าวมีการอ้างถึงเอกสารหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในการจัดพิมพ์หนังสือของวัดถ้ำหมีนอนและแนบท้ายหนังสือแต่งตั้ง โดยจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับแต่งตั้งไว้ด้วย และจำเลยยังได้อ้างเอกสารหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ดังกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องขอประทานพระอนุญาตใช้สถานที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งจำเลยเป็นผู้ออกหนังสือและลงลายมือชื่อไว้ในฐานะประธานดำเนินการโครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" อีกด้วย ย่อมแสดงว่าจำเลยทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าสำนักราชเลขาธิการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือ "ชีวิตสมถะ" เพื่อแจกให้แก่ผู้มีจิตศรัทธามาฟังการแสดงพระธรรมเทศนาเท่านั้น โดยห้ามนำไปใช้ในการโฆษณาหรือแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดทั้งสิ้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยขายสินค้า โดยมีเจตนาหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นอันเป็นเท็จ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเกี่ยวกับสภาพความผิดคดีนี้ว่า ภายหลังจำเลยได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอนแล้ว จำเลยได้ดำเนินการต่าง ๆ ในการจัดทำหนังสือ "ชีวิตสมถะ" และพระผงสมเด็จมหามงคลตามที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ ซึ่งจำเลยนำเงินที่ได้บางส่วนไปทำบุญแด่วัดถ้ำหมีนอน วัดในถิ่นทุรกันดาร และช่วยเหลือประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอนซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้มีนายสมบัติ พยานจำเลย มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลย และสอดคล้องกับคำเบิกความของพระอธิการชัยรัตน์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำหมีนอนที่เบิกความว่า วัตถุประสงค์เกี่ยวกับเงินบริจาคของโครงการมหามงคลครองราชย์ 60 ปี หนังสือดี "ชีวิตสมถะ" "พระจิตรลดา" ส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินบางส่วนพัฒนาวัดในถิ่นทุรกันดารวัดทางภาคใต้ และช่วยเหลือประชาชน โดยจำเลยได้นำเงินมอบให้แก่วัด 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 122,000 บาท และมีการนำชุดเทิดพระเกียรติไปแจกที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ด้วย ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พฤติการณ์แห่งคดีเกี่ยวกับสภาพความผิดของจำเลยดังกล่าวนับว่าจำเลยได้ทำคุณประโยชน์ในการมีส่วนช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมอันเป็นเหตุอันควรปรานี โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 (เดิม)จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ริบของกลาง