โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3, 4, 26 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 4, 28, 39 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 9, 18, 19 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 4, 5, 22, 34, 35, 45, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง, 39 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (ที่ถูก 35 (1)), 52 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคสอง (ที่ถูก 9 (5) วรรคหนึ่ง), 18 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับ 2,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินกว่าเวลาที่กำหนด กับฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ในการเปิดกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยมีการขอใบอนุญาต แต่ในบางครั้งใบอนุญาตหมดอายุ ซึ่งจำเลยได้ยื่นขอใบอนุญาตใหม่ทุกครั้ง จำเลยไม่ได้เปิดกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตและจำเลยไม่มีเจตนาจะทำผิดกฎหมายนั้น มีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กระทงหนึ่ง ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กระทงหนึ่ง ส่วนฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินเวลาที่กำหนด กับฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นบทหนักกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน นั้น เห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินเวลาที่กำหนด และความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนกฎหมาย นั้น จำเลยมีเจตนาที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่ตั้งสถานบริการโดยไม่มีใบอนุญาตและฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะที่มีการประกาศมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว มีลักษณะเป็นการมุ่งหวังแต่ประโยชน์ในทางการค้าส่วนตนเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา อันจะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ค่อนข้างร้ายแรงก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน ทั้งโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองเป็นเพียงระยะสั้น เมื่อพิจารณาข้อฎีกาของจำเลยแล้ว จำเลยได้แสดงข้อความสำนึกผิดเชื่อว่าการที่จำเลยถูกดำเนินคดีนี้ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ส่วนที่จำเลยมีประวัติเคยกระทำความผิดมาก่อน ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุก กรณีจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกสักครั้ง โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ตามเพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กลับมากระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้ซ้ำอีกเห็นควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง กับคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 30,000 บาท และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ปรับ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำคุก 1 เดือน รวมเป็นจำคุก 2 เดือน และปรับ 25,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ลงโทษปรับฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2