โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 35, 52 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 44, 51, 70, 144, 148/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 317 ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 332,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม), 317 วรรคสาม (ที่ถูก (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 5 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสาม (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44, 70 (เดิม), 144 วรรคหนึ่ง (เดิม), 148 (เดิม) ด้วย ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ จำคุก 8 ปี ฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง จำคุก 1 เดือน ฐานเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายในกำหนด จำคุก 1 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในห้า ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ คงจำคุก 6 ปี 4 เดือน 24 วัน ฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง คงจำคุก 24 วัน ฐานเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายในกำหนด คงจำคุก 24 วัน เมื่อรวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 14 ปี 6 เดือน 12 วัน ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 332,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า นาง ส. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 12 ปีเศษ (เกิดวันที่ 12 มิถุนายน 2546) เป็นบุตรบุญธรรมของนาย บ. และนาง ม. ผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายทั้งสองเป็นคนสัญชาติลาว พักอาศัยอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558 ผู้เสียหายทั้งสองเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรที่จังหวัดหนองคาย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย–ลาว ผู้เสียหายที่ 2 รับเงินจากจำเลย 50,000 บาท แล้วส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 ให้จำเลย จำเลยขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ร้านค้าของจำเลยที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นนาง อ. ภริยาจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ร้าน ฮ. ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้เสียหายที่ 1 พักอยู่กับนาง อ. ที่ร้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2558 จนถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 จากนั้นนาง อ. ให้ผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นรถโดยสารไปที่กรุงเทพมหานคร วันรุ่งขึ้นจำเลยไปรับผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถพาไปที่จังหวัดหนองคาย ระหว่างทางนอนพักที่โรงแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้นจำเลยส่งผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นเรือข้ามฟากแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ให้ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางกลับไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบผู้เสียหายที่ 2 มารับผู้เสียหายที่ 1 ที่ตลาดเช้านครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ผู้เสียหายที่ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคาย ได้มาพบร้อยตำรวจเอก ก. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ผู้เสียหายที่ 2 ให้ร้อยตำรวจเอก ก. ติดตามผู้เสียหายที่ 1 กลับมา เนื่องจากก่อนหน้าได้ให้จำเลยพาไปทำงานแล้วติดต่อไม่ได้ ร้อยตำรวจเอก ก. ได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยในวันเดียวกัน ขอให้ส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้าน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 ผู้เสียหายทั้งสองได้มาร้องทุกข์ต่อนาง ย. พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหนองคาย และผู้เสียหายที่ 1 ให้ข้อมูลคดีค้ามนุษย์ต่อนาง พ. นักพัฒนาสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคาย ต่อหน้านางมยุราและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ผู้เสียหายทั้งสองไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอก ก. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ร้อยตำรวจเอก ก. ส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจร่างกาย แพทย์มีความเห็นว่า ตรวจพบรอยแผลฉีกขาดเก่าที่เยื่อพรหมจารีบริเวณ 5 นาฬิกา และ 8 นาฬิกา ไม่พบบาดแผลภายนอก ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้ออสุจิในช่องคลอด และไม่พบสารประกอบของน้ำอสุจิ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคายได้ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีค้ามนุษย์
เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฐานค้ามนุษย์ ฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง และฐานเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายในกำหนดหรือไม่ โดยเห็นควรวินิจฉัยความผิดทั้งสามฐานนี้ไปพร้อมกัน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเกิดเหตุเดียวกัน เห็นว่า การพิจารณาการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องโจทก์ เป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานในภาพรวมนับแต่วันเริ่มต้นกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจนถึงวันที่สิ้นสุดการกระทำความผิด มิใช่การพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะคำพยานบุคคลเพียงช่วงเวลาหนึ่งหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยเฉพาะตามที่จำเลยอ้างมาตามฎีกาข้างต้น คดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีได้ความตามข้อเท็จจริงยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาบุญธรรมและเป็นผู้ปกครองผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 1 นำตัวผู้เสียหายที่ 1 จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาส่งให้จำเลยรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ที่จังหวัดหนองคาย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แล้วผู้เสียหายที่ 2 รับมอบเงิน 50,000 บาท จากจำเลย จำเลยนำตัวผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 12 ปี 2 เดือน ไปร้านจำเลยที่จังหวัดขอนแก่น 1 วัน หลังจากนั้นจำเลยนำตัวผู้เสียหายที่ 1 เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปอยู่ร้านจำเลยอีกแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน แล้วจำเลยนำตัวผู้เสียหายที่ 1 ส่งคืนผู้เสียหายที่ 2 โดยจำเลยได้รับการแจ้งจากร้อยตำรวจเอก ก. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ให้นำตัวผู้เสียหายที่ 1 มาส่งคืนเพราะมีการร้องทุกข์ดำเนินคดี ตลอดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยและนาง อ. ภริยาจำเลย ที่ร้าน ฮ. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของจำเลยซึ่งจำหน่ายชุดกีฬา ดังนี้ การกระทำของจำเลยถือเป็นธุระจัดหา พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ซึ่งเด็กตามบทบัญญัติมาตรา 6 (2) เดิม แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ปัญหาวินิจฉัยต่อมามีว่า จำเลยกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยการบังคับใช้แรงงานหรือบริการหรือไม่ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ฟังยุติตรงกันตามทางนำสืบโจทก์จำเลยว่า ในช่วงแรกผู้เสียหายที่ 2 ตกลงรับมอบเงินเป็นค่าตอบแทน 50,000 บาท แลกกับการให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลย แต่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่าตกลงมอบให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่ร้านจำเลยในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเคยไปดูสถานที่ทำงานมาก่อนหน้าแล้ว แต่จำเลยอ้างว่ารับตัวผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 12 ปีเศษ ไว้ดูแลเหมือนลูก ให้อยู่เป็นเพื่อนลูกของจำเลย 2 คน อายุ 9 ขวบ และ 7 ขวบ ที่เกิดกับนาง อ. มิได้รับตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเพื่อจ้างแรงงาน และข้อเท็จจริงรับตรงกันว่า ไม่มีการจ่ายค่าจ้างใด ๆ ตลอดมานับแต่รับตัวผู้เสียหายที่ 1 มาจนถึงวันส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 คืนผู้เสียหายที่ 2 นาง อ. ให้การชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า นาง อ. ไม่ได้มอบหมายงานใด ๆ ให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำแต่อย่างใด โดยให้เป็นเพื่อนเล่นกับลูกนาง อ. กิน นอน เล่นด้วยกันกับลูกนาง อ. โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ช่วยงานที่ร้านหรือทำงานบ้านแต่อย่างใด เพียงแต่ล้างจานที่ตนเองกินและซักผ้าที่ตนเองใส่ ซึ่งลูกนาง อ. ก็ทำเช่นนั้นด้วย เห็นว่า คำให้การดังกล่าวมีพิรุธน่าสงสัย เพราะหากลูกนาง อ. ทั้งสองคนไปเรียนหนังสือในเวลากลางวัน ก็ไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 จะเป็นเพื่อนลูกนาง อ. ได้ เนื้อหาตามคำให้การจึงมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงพฤติการณ์ที่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานพนักงานขายและงานผู้ช่วยงานบ้าน ซึ่งนาง อ. เคยให้การไว้กับนาย จ. พนักงานตรวจแรงงาน ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ซึ่งตามคำให้การดังกล่าวอ้างว่าไม่ได้จ้างผู้เสียหายที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้าง แต่ยอมรับว่าในบางครั้งนาง อ. ก็ให้ผู้เสียหายที่ 1 ช่วยงานบ้างโดยอยู่หน้าร้านขายชุดกีฬา ซึ่งเหมือนกับลูกของนาง อ. ทั้งสองคน และให้การว่าร้าน ฮ. เปิดจำหน่ายตั้งแต่เวลา 7 ถึง 21 นาฬิกา โดยไม่มีวันหยุดแต่อย่างใด พักระหว่างเวลาทำงานวันละ 1 ชั่วโมง และยอมรับว่าไม่ได้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปไหนแต่เพียงลำพัง แต่ไปกับนาง อ. และครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสืบพยานล่วงหน้าของศาลชั้นต้นและคำให้การในชั้นสอบสวน และในชั้นให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหนองคายโดยนาง ย. เป็นผู้สอบสวน ซึ่งได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2558 เป็นพนักงานขายสินค้าเสื้อผ้าชุดกีฬา เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 6 ถึง 21 นาฬิกา ไม่มีการลงเวลาทำงาน ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดตามประเพณี พักระหว่างทำงานวันละ 1 ชั่วโมง และมอบให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานบ้านและทำกับข้าว ซักผ้า โดยให้เริ่มทำงานบ้านตั้งแต่เวลา 3 ถึง 6 นาฬิกา และเปิดหน้าร้านขายของตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา เป็นต้นไป จนถึงเวลา 21 นาฬิกา โดยจำเลยให้นาง อ. ภริยาจำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างใด ๆ ให้ผู้เสียหายที่ 1 เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งคดีซึ่งฟังได้ว่า จำเลยต้องเสียเงินในการได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 มาจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท แสดงว่าความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาบุญธรรมผู้เสียหายที่ 1 มิใช่เรื่องของความเป็นญาติเกี่ยวดองหรือสนิทสนมกันพิเศษกับจำเลย แต่เป็นนิติสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนกันและกัน จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะนำผู้เสียหายที่ 1 มาอยู่เฉย ๆ เพราะมิฉะนั้นก็ไม่จำต้องเสียเงินจัดหาผู้เสียหายที่ 1 มา ทั้งการดำเนินการเพื่อได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 มานั้น จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือเดินทางให้ผู้เสียหายทั้งสองอีกประมาณ 5,000 บาท เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากจังหวัดหนองคายมาจังหวัดขอนแก่นต่อมายังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมถึงค่าที่พัก ค่าอาหารระหว่างพักอยู่ด้วยกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยนำตัวผู้เสียหายที่ 1 มาอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำงานอะไร ทั้งหากให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเพื่อนลูก 2 คน ของนาง อ. ก็ยังถือเป็นการทำงานในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงเด็กซึ่งย่อมต้องจ่ายค่าจ้างด้วย นอกจากนี้ข้ออ้างจำเลยที่ว่าจะนำผู้เสียหายที่ 1 มาเลี้ยงอย่างลูก ในทางนิตินัยก็ไม่ปรากฏว่าตลอดระยะ 1 ปี 5 เดือน จำเลยได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อทางราชการ ที่จะรับผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม หรือทางพฤตินัยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือนาง อ. ได้ให้การศึกษาในโรงเรียนแก่ผู้เสียหายที่ 1 อย่างลูกของตนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบโจทก์ว่า จำเลยจัดหาและรับตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเพื่อทำงาน ไม่ว่างานมีลักษณะเป็นพนักงานขายหน้าร้าน งานผู้ช่วยงานบ้าน งานพี่เลี้ยงเด็ก หรืองานลักษณะใดก็ตามที่จำเลยหรือนาง อ. ผู้ควบคุมดูแลมอบหมาย ก็ถือเป็นการจ้างงานทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์การใช้แรงงาน ที่จำเลยเป็นธุระจัดหา นำพาและส่งไป ให้ที่พักอาศัยเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานในประเทศไทยกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโดยใช้หนังสือเดินทางซึ่งระบุเข้ามาแบบนักท่องเที่ยวมีระยะเวลาอยู่ประเทศไทยเพียง 1 เดือน แต่ผู้เสียหายที่ 1 ต้องทำงานเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และอยู่และทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายเพราะไม่มีใบอนุญาต ทั้งยังเป็นเด็กอายุเพียง 12 ปี ไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นตามที่จำเลยได้ตกลงไว้ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงภูมิลำเนาของผู้เสียหายทั้งสองที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกส่งตัวออกห่างไกลไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใช้เวลาเดินทางทางบก 2 ถึง 3 วัน ทั้งผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ ไม่มีญาติมิตรใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะครอบครองหนังสือเดินทางของตนไว้หรือไม่ก็ตาม สภาพของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 12 ปี จึงต้องอยู่ในฐานะผู้อยู่และทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ไม่รู้จักพื้นที่และไม่อาจเดินทางไปสถานที่ใด ๆ ได้โดยลำพัง โดยภาวะสภาพของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอ่อนด้อยทางร่างกาย ภาษาและการสื่อสาร และฐานะทางกฎหมายจึงตกอยู่ในสภาพถูกบังคับในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ต้องทำงานให้กับจำเลยและนาง อ. โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ อันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสาม (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และฐานจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง ฐานเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายในกำหนดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44, 70 (เดิม), 144 วรรคหนึ่ง (เดิม), 148 (เดิม) ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมามีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายที่ 1 ให้การและเบิกความยืนยันเรื่องที่ถูกจำเลยกระทำชำเราได้ผ่านการกลั่นกรองข้อเท็จจริง และพิสูจน์พยานหลักฐานตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวต่างไม่รู้จักจำเลย ไม่มีเหตุที่จะช่วยเหลือหรือปรักปรำจำเลยทางหนึ่งทางใด ผลการตรวจสอบพิสูจน์พยานไม่ปรากฏข้อพิรุธหรือข้อสงสัยในคำให้การผู้เสียหายที่ 1 ในส่วนที่ให้การเรื่องถูกจำเลยกระทำชำเราแต่อย่างใด ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งคดีซึ่งได้ความว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวของจำเลยโดยลำพังเพียงสองต่อสอง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปี อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ทั้งอยู่ในสภาพอ่อนด้อยวุฒิภาวะและด้อยกำลังเมื่อเทียบกับจำเลย จำเลยนำผู้เสียหายที่ 1 เข้าพักในห้องพักเดียวกัน อยู่ด้วยกัน 2 คน ในเวลากลางคืน พฤติเหตุแวดล้อมเจือสมกับข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยัน นอกจากนี้ข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเราก็เป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับเด็กหญิงดังเช่นผู้เสียหายที่ 1 ทั้งไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 จะสร้างเรื่องราวนี้ขึ้นเพราะผู้เสียหายที่ 1 รวมถึงผู้เสียหายที่ 2 มิได้ใช้เป็นเหตุเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ต่อจำเลยในส่วนนี้ เท่ากับเหตุเรื่องนี้เป็นแต่ทางเสียหายต่อผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าหากจะชำเราผู้เสียหายที่ 1 ก็อาจทำได้ตลอดเวลาที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับตนตลอด 1 ปีเศษ นั้น ไม่อาจฟังได้ เพราะผู้เสียหายที่ 1 พักอยู่กับนาง อ. ภริยาจำเลยตลอดเวลา และจำเลยกลับไปพบนาง อ. ประมาณปีละ 4 ครั้ง ส่วนที่จำเลยอ้างทำนองว่าป่วยไร้สมรรถภาพทางเพศ นั้น ก็เป็นข้ออ้างหลังจากจำเลยถูกดำเนินคดีนี้แล้ว พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าในวันเวลาที่จำเลยนำผู้เสียหายที่ 1 เดินทางโดยลำพังเพื่อนำส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 คืนผู้เสียหายที่ 2 จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้อง สำหรับข้อหาความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร นั้น จำเลยฎีกาอ้างว่า การที่จำเลยรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 2 ส่งมอบตัวผู้เสียหายที่ 1 ให้แก่จำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้แต่อย่างใด และอ้างว่าคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุวันเวลาเกิดเหตุความผิดฐานนี้วันที่ 14 เมษายน 2558 ซึ่งขาดตอนไปแล้ว เพราะขัดกับคำฟ้องในฐานความผิดเรื่องกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งระบุเวลาเกิดเหตุวันที่ 28 กันยายน 2559 ห่างกันเกือบ 2 ปี นั้น พิจารณาคำฟ้องโจทก์ข้อ 1.4 ระบุว่า "เมื่อระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2558 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 กันยายน 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ต่อเนื่องกัน จำเลยนี้โดยปราศจากเหตุสมควรได้พรากผู้เสียหายที่ 1 อายุ 12 ปีเศษ ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครอง ผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปด้วย..." เมื่อพิจารณาประกอบพยานหลักฐานจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า วันที่ 14 เมษายน 2558 เวลากลางวัน จำเลยรับมอบตัวผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองผู้ดูแล บริเวณสะพานมิตรภาพไทย–ลาว จังหวัดหนองคาย หลังจากผู้เสียหายที่ 2 รับมอบเงิน 50,000 บาท จากจำเลย และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยและนาง อ. ภริยาจำเลยร่วมกันจัดหา พามาหรือส่งไป หรือรับไว้ ให้ที่พักอาศัยซึ่งผู้เสียหายที่ 1 เพื่อทำงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนใด ๆ โดยเป็นการกระทำต่อเนื่องนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยและนาง อ. ส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 เดินทางออกจากจังหวัดสงขลาเพื่อส่งตัวคืนผู้เสียหายที่ 2 ดังนี้ถือว่าคำบรรยายฟ้องโจทก์ข้อ 1.4 ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำต่อเนื่อง เพราะผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานที่จังหวัดขอนแก่นตั้งแต่แรก แต่จำเลยส่งผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่จังหวัดสงขลา แม้ไม่ตรงตามเจตนาที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าใจแต่แรก และผู้เสียหายที่ 2 ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ตลอดมาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่า จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 ไว้จากผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำงาน และผู้เสียหายที่ 2 ตกลงยินยอมแต่เฉพาะเรื่องให้ทำงาน การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 และ 29 กันยายน 2559 จึงอยู่ในช่วงเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 14 เมษายน 2558 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 กันยายน 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ตามฟ้องโจทก์ และเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารนอกเหนือเจตนาของผู้เสียหายที่ 2 แต่แรกที่ยินยอมให้รับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อทำงานเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันควรเพื่อการอนาจาร คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกมาตามฟ้องข้อ 3 ระบุว่า เป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 35 เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนผู้เสียหายที่ 1 ตามที่ได้รับแจ้งจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โจทก์เรียกมาเป็นเงิน 332,000 บาท ตามที่มีการคำนวณตามเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคายร่วมกับพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และผู้เสียหายที่ 1 โดยกำหนดประเด็นการคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายบัญญัติและตามระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ พ.ศ. 2552 ข้อ 15 ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 33 และมาตรา 35 ซึ่งเป็นความเสียหายจากการขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ความเสียหายต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสียหายต่อจิตใจและอนามัย ความเสียหายต่อชื่อเสียง ความเสียหายอันเนื่องมาจากการเสื่อมสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ความเสียหายจากการสูญเสียความสุข ความรื่นเริงตลอดชีวิต และความเสียหายต่อเสรีภาพ ดังนี้ ฐานการคำนวณค่าสินไหมทดแทนจึงมีที่มาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐดังกล่าวข้างต้นเป็นผู้ช่วยเหลือตามกฎหมาย มิใช่มาจากฐานความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามคำขอท้ายคำร้องและคำให้การของผู้ใช้แรงงานคือผู้เสียหายที่ 1 ตามที่ปรากฏในฟ้องโจทก์ข้อ 1.3 ซึ่งเป็นการคำนวณเฉพาะค่าตอบแทนการทำงานเพียงอย่างเดียวโดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้อง ดังนั้น แม้มีการถอนคำร้องทางแพ่งโดยผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่มีผลต่อความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพราะมีที่มาและข้อกฎหมายอ้างอิงแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น เมื่อจำเลยไม่โต้แย้งยอดเงินค่าสินไหมทดแทนตามเอกสารท้ายฟ้อง ประกอบกับศาลฎีกาเห็นว่ายอดเงินที่โจทก์ขอมาเหมาะสมแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การสอบสวนคดีนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.5 บรรยายถึงรายละเอียดการกระทำความผิดของจำเลย ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้อง โดยระบุสถานที่เกิดเหตุในประเทศไทย คือตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และแขวงใด เขตใดไม่ปรากฏชัด กรุงเทพมหานคร มิได้ระบุว่ามีสถานที่เกิดเหตุนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด แม้ตามฟ้องข้อ 1.1 อาจมีการระบุถึงการกระทำที่มีการหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติลาว และผลการหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ได้นำพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติลาว เข้ามาในราชอาณาจักรไทยให้จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 ไว้ ที่ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ก็ตาม ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในฟ้องถึงการกระทำของจำเลยนอกราชอาณาจักรตามที่ฎีกาจำเลยอ้างมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้หากมีการหลอกลวงของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 นอกราชอาณาจักร ก็เป็นเพียงการตระเตรียม พยายาม หรือการกระทำส่วนหนึ่งได้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรทั้งสิ้น กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด เพราะมาตรา 20 บัญญัติว่า "ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ..." เป็นบทบัญญัติที่บังคับใช้กรณีเฉพาะความผิดที่ได้กระทำการนอกราชอาณาจักรไทยเท่านั้น คดีนี้มีการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายประการสุดท้ายมีว่า ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานซึ่งศาลชั้นต้นได้สืบไว้ก่อนฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 8 ซึ่งให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมถึงในชั้นสืบพยานบุคคล ให้ศาลแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการสืบพยาน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนี้ด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล ให้ศาลมีอำนาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม แล้วจึงอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 บัญญัติเรื่องการสืบพยานก่อนฟ้องตามมาตรา 31 ว่า
"ก่อนฟ้องคดีต่อศาล ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากพนักงานสอบสวนจะนำผู้เสียหายหรือพยานบุคคลมายื่นคำร้องต่อศาล โดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าได้มีการกระทำความผิดและเหตุแห่งความจำเป็นที่จะต้องมีการสืบพยานไว้โดยพลันก็ได้
ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือพยานบุคคลจะให้การต่อศาลเอง เมื่อผู้เสียหายหรือพยานบุคคลแจ้งแก่พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้า
ให้ศาลสืบพยานทันทีที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ในการนี้ หากผู้มีส่วนได้เสียในคดีคนใดยื่นคำร้องต่อศาลแถลงเหตุผลและความจำเป็นขอถามค้าน หรือตั้งทนายความถามค้าน เมื่อเห็นสมควรก็ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตได้ และให้นำความในมาตรา 237 ทวิ วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าต่อมามีการฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยในการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ก็ให้รับฟังพยานดังกล่าวในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้"
ดังนี้ เห็นว่า ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานปากผู้เสียหายทั้งสองที่ได้สืบพยานไว้ก่อนฟ้องได้ รวมถึงรับฟังพยานเอกสารที่พยานทั้งสองปากเบิกความยืนยันรับรองได้ เพราะตามมาตรา 31 วรรคสาม กำหนดให้ศาลชั้นต้นสืบพยานทันทีที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง นอกจากนี้คำร้องที่ขอให้สืบพยานไว้ก่อนฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ก็เป็นคำร้องตามวรรคหนึ่ง คือพนักงานอัยการยื่นโดยตนเอง โดยพนักงานอัยการเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ร้องท้ายคำร้อง ส่วนข้อความที่จำเลยอ้างทำนองว่าเป็นการดำเนินการมิชอบโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคายนั้น พิจารณาคำร้องข้อ 2 ปรากฏว่าเป็นเพียงการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของข้อเท็จจริงในคำร้องเพราะหน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่มีโอกาสถามค้านพยานนั้น ตามมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขให้ต้องรอหรือแจ้งผู้ต้องหา จำเลย หรือทนายมาถามค้านก่อนสืบพยานแต่อย่างใด เพราะศาลต้องสืบพยานทันทีที่ได้รับคำร้องและเป็นผู้ไต่สวนค้นหาความจริงรวมถึงถามค้านแทนฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย และแม้หากมีจำเลยหรือทนายมา ศาลก็อาจไม่อนุญาตให้ถามค้านก็ได้ตามมาตรา 31 วรรคสาม ข้างต้น การมิได้ถามค้านจึงมิใช่เหตุที่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองในชั้นสืบพยานก่อนฟ้องรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีตัวอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลในขณะนั้นจึงอาจหมายเรียกจำเลยมาได้นั้น เห็นว่า นอกจากมาตรา 31 ดังกล่าวมิได้กำหนดเงื่อนไขให้ดำเนินการรอให้ได้ตัวจำเลยมาก่อนจึงจะสืบพยานก่อนฟ้องได้ตามที่จำเลยอ้างแล้ว ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่า จำเลยได้รับประกันตัวจากศาลชั้นต้นในชั้นฝากขังจนครบฝากขัง 7 ครั้ง แล้ว จำเลยจึงพ้นจากการควบคุมของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลชั้นต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2560 ตามรายละเอียดหลังคำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ลงวันที่ 5 มกราคม 2560 และโจทก์ยื่นคำร้องขอสืบพยานไว้ก่อนฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 และยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 หลังจากจำเลยพ้นฝากขัง 2 ปี สืบเนื่องจากจำเลยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 รายละเอียดตามคำร้องดังกล่าวของจำเลยเป็นการให้การแก้ข้อกล่าวหาของผู้เสียหายทั้งสองตามคำร้องและตามบันทึกถ้อยคำของผู้เสียหายทั้งสองแสดงว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ถูกผู้เสียหายทั้งสองกล่าวหามาก่อนแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ซับซ้อนเพราะมีเนื้อหาหลักในเรื่องผู้เสียหายที่ 1 ทำงานแล้วไม่ได้ค่าจ้างค่าตอบแทนและเรื่องจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมีโอกาสพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพิสูจน์พยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหนังสือ จำเลยขอให้พนักงานอัยการสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมตามที่จำเลยอ้าง โดยมีพยานบุคคลซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสองรวมอยู่ด้วย รวมถึงพยานปากอื่นรวม 13 ปาก และต่อมาพนักงานอัยการก็ได้ดำเนินการให้จำเลยผ่านพนักงานสอบสวนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เทียบได้กับจำเลยได้มีโอกาสถามค้านพยานและพิสูจน์ความจริงเป็นเวลาถึง 2 ปี ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือว่าจำเลยไม่เสียเปรียบ การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นสืบพยานก่อนฟ้องชอบแล้ว ศาลรับฟังพยานดังกล่าวในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ สำหรับฎีกาส่วนอื่นของจำเลยนั้นไม่เป็นสาระไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยข้างต้น ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ