ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบยานพาหนะในความผิดชิงทรัพย์: ต้องพิจารณาว่าใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงหรือไม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้อีกกึ่งหนึ่งนั้น ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะพาทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิดหลบหนีไป หรือใช้ยานพาหนะเพื่อให้พ้นการจับกุมหลังจากได้กระทำผิดเป็นเพียงบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่ายานพาหนะใดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งศาลพึงสั่งริบตามมาตรา 33(1) นั้นต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ของการกระทำผิดเป็นเรื่องๆไปว่าผู้กระทำผิดได้ใช้ยานพาหนะนั้นในการกระทำผิดหรือไม่
จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะพาสร้อยคอทองคำหลบหนีไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ภายหลังจากจำเลยได้ทำการชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยทั้งสองมิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการกระทำผิดชิงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายรถจักรยานยนต์จึงมิใช่ทรัพย์สินอันพึงริบตามมาตรา 33(1)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2615/2518)