โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 151, 157, 162 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ อท 257/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ อท 86/2562 คดีหมายเลขดำที่ อท 108/2562 คดีหมายเลขดำที่ อท 109/2562 และคดีหมายเลขดำที่ อท 110/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 3 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 2 ปี 6 เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ อท 257/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ อท 86/2562 คดีหมายเลขดำที่ อท 108/2562 คดีหมายเลขดำที่ อท 109/2562 และคดีหมายเลขดำที่ อท 110/2562 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา หมู่ที่ 11 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 65 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ในปีงบประมาณ 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาตั้งงบประมาณประเภทเงินสำรองจ่ายไว้ใช้ในกิจการที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยต่าง ๆ ไว้ในข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา เป็นเงิน 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 1 เรียกประชุมคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา ครั้งที่ 6/2556 ที่ประชุมมีมติให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรก (คาร์ฟูร์) หมู่ที่ 11 เพื่อป้องกันอุทกภัย และมอบหมายให้สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ต่อมาสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างขอเบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างปิดกั้นคลองบางแพรกให้แก่จำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าในการปิดกั้นคลองดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 เห็นชอบให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเสนอ มีผู้เข้าเสนอราคา 3 ราย คือ จำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่น องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาตกลงจ้างจำเลยที่ 3 ผู้เสนอราคาต่ำสุดให้เป็นผู้รับจ้าง จำเลยที่ 3 ส่งมอบงานจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงานของจำเลยที่ 3 แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายค่าจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 67,320 บาท ตามฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย เลขที่คลังรับ 72/2557 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 อันเป็นการจัดทำเอกสารเท็จ เพราะในความเป็นจริงองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามิได้จ้างจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก แต่เป็นกรณีที่ราษฎรหมู่ที่ 11 ช่วยกันออกเงินซื้อวัสดุและร่วมกันปิดกั้นคลองดังกล่าว โดยขอสนับสนุนเครื่องจักรและทรายบรรจุกระสอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และมาตรา 162 (1) (4) (เดิม) หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรก จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานย่อมต้องทราบความเป็นมาในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีว่า ในการปิดกั้นคลองบางแพรกนั้น เป็นกรณีที่ราษฎรหมู่ที่ 11 ช่วยกันออกเงินซื้อวัสดุและร่วมกันปิดกั้น โดยขอสนับสนุนเครื่องจักรและทรายบรรจุกระสอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา มิใช่เป็นการจัดจ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาจัดทำเสนอเพื่อขอเบิกเงินงบประมาณจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 3 แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักและมิได้เป็นผู้ติดต่อให้จำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่น เข้ายื่นใบเสนอราคาเป็นผู้รับจ้าง แต่โจทก์อ้างนางธนกร ลูกจ้างตามภารกิจซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปช่วยงานที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกปากคำของผู้ให้ถ้อยคำ ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้พยานพิมพ์เอกสารประกอบฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่าย เลขที่คลังรับ 72/2557 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ประกอบด้วยรายงานขอจ้างโดยวิธีตกลงราคา ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ใบเสนอราคาของจำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่น ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 บันทึกตกลงการจ้างเลขที่ 42/2557 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2556 หนังสือขอเข้าทำงานจ้างของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2556 หนังสือขอส่งมอบงานจ้างของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ใบตรวจรับงานของคณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2556 บันทึกขออนุมัติเบิกเงินค่าจ้าง ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2556 และใบรับรองของผู้เบิก ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 หลังจากจัดพิมพ์เอกสารดังกล่าวเสร็จแล้ว พยานนำเอกสารไปให้บุคคลที่เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อ แล้วรวบรวมเป็นหลักฐานประกอบฎีกาขอเบิกเงินงบประมาณจากกองคลัง โดยในการจัดทำเอกสารดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่นมาให้พยานใช้ประกอบการจัดพิมพ์รายงานขอจ้างโดยวิธีตกลงราคาและใบเสนอราคา พร้อมเขียนจำนวนเงินที่จะให้พยานพิมพ์ลงไว้ในใบเสนอราคาของผู้เสนอราคาแต่ละรายด้วย ซึ่งจากคำให้การในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. และคำเบิกความของนางธนกรดังกล่าว ความปรากฏตามรายงานการประชุม บันทึกขออนุมัติจัดจ้างและบันทึกตกลงการจ้าง ว่า ที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีมติให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรก และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีบันทึกขออนุมัติจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีการทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 3 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2556 แต่ตามใบเสนอราคาของจำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่น และหนังสือขอเข้าทำงานจ้างของจำเลยที่ 3 กลับระบุว่า จำเลยที่ 3 นายทวี และนายชื่น ยื่นใบเสนอราคาต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา และจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอเข้าทำงานจ้างโดยอ้างว่าเป็นผู้ได้รับการตกลงจ้าง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2556 อันเป็นเวลาก่อนวันที่ที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีมติให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรก และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีบันทึกขออนุมัติจัดจ้าง รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามีการทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 3 นับเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่ง ทั้งตามรายงานการประชุมก็ปรากฏว่า ที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เข้าร่วมประชุมด้วย เพียงแต่มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวดังกล่าว โดยในรายงานการประชุมระบุว่า ชาวบ้านได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องละ 40 ลิตร และจ้างคนดูแลเขื่อนและเครื่องสูบน้ำ 2 คน มิได้ระบุว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด เช่นนี้ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ลงนามเป็นผู้รับรองในเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างและลงนามเป็นผู้เบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 3 จึงบ่งชี้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 รับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างอันเป็นความเท็จดังกล่าว เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งที่ไม่มีการจัดจ้างจริง ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างอันเป็นความเท็จนั้น ไม่สมเหตุสมผลรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรกโดยตรงจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) (เดิม) ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการเสนอราคารวมตลอดถึงการเบิกรับเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 3 มิใช่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 3 เข้าไปเกี่ยวข้องเนื่องจากจำเลยที่ 4 แจ้งว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการปิดกั้นคลองบางแพรก โดยแนะนำให้หาตัวผู้รับจ้างปิดกั้นคลองเพื่อเบิกเงินงบประมาณมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนสูบน้ำหรือเฝ้าเครื่องสูบน้ำ และจำเลยที่ 4 สอบถามจำเลยที่ 3 ว่าเป็นผู้รับจ้างได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 ตกลงเป็นผู้รับจ้างเพราะเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นกรณีที่สามารถเบิกเงินงบประมาณมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนจากอุทกภัยได้ จำเลยที่ 4 จึงให้จำเลยที่ 3 นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเพื่อจัดทำหลักฐานการจัดจ้าง ต่อมาเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาแจ้งจำเลยที่ 3 ให้ไปรับเช็ค และให้จำเลยที่ 3 ลงนามในเอกสารต่าง ๆ จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าเป็นเช็คจ่ายค่าจ้างคนสูบน้ำหรือเฝ้าเครื่องสูบน้ำ จึงนำเช็คไปขึ้นเงินและนำเงินไปมอบให้จำเลยที่ 4 ทั้งหมด จำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด และจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า นางอรุณี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา เป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจำเลยที่ 4 รับเงินจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปจ่ายให้แก่ราษฎรหมู่ที่ 11 ที่มาช่วยกันปิดกั้นคลอง ค่าซื้อทราย ค่าซื้อเสาเข็ม และค่าจ้างรถแบ็กโฮ ไม่ได้เก็บไว้เป็นประโยชน์ส่วนตน ข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำเบิกความของพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 น่าจะเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 มิใช่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า ในวันที่ราษฎรหมู่ที่ 11 ร่วมกันปิดกั้นคลองบางแพรกนั้น จำเลยที่ 3 ไปช่วยปิดกั้นคลองด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามิได้มีการจ้างผู้รับจ้างปิดกั้นคลองดังกล่าว จำเลยที่ 3 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาระหว่างปี 2547 ถึงปี 2555 นับว่าเป็นผู้มีความรู้สูงและเคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในข้อบัญญัติต่าง ๆ และการดำเนินการบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา โดยวุฒิภาวะเช่นนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมต้องทราบว่าการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างเพื่อเบิกเงินงบประมาณจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 3 อันเป็นความเท็จ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นความผิดมีโทษทางอาญา แต่จำเลยที่ 3 กลับรับสมอ้างเป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก ทั้งที่ไม่มีการจัดจ้างจริง โดยจำเลยที่ 3 นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของตนไปมอบให้เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาใช้ประกอบการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้าง ทั้งยังลงนามเป็นผู้เสนอราคาและเป็นผู้รับจ้างในใบเสนอราคา หนังสือขอเข้าทำงานจ้างของจำเลยที่ 3 บันทึกตกลงการจ้าง หนังสือขอส่งมอบงานจ้างของจำเลยที่ 3 และบิลเงินสด ซึ่งเอกสารดังกล่าวล้วนมีข้อความระบุชัดแจ้งว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสนอราคาและรับจ้างก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำชั่วคราวคลองบางแพรก มิใช่เป็นการจ้างคนสูบน้ำหรือเฝ้าเครื่องสูบน้ำตามที่จำเลยที่ 3 อ้างในฎีกา พฤติการณ์ดังที่กล่าวมาจึงบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อพิรุธของจำเลยที่ 3 คดีรับฟังได้ตามทางไต่สวนว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนารับสมอ้างเป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก เพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดให้สำเร็จลุล่วงไป อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 จะยกข้ออ้างว่ากระทำไปโดยสุจริตเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนจากอุทกภัยขึ้นมาแก้ตัวให้พ้นผิดหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า การรับฟังว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยที่ 4 ประกอบพฤติการณ์แห่งคดีเป็นสำคัญ จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า นางอรุณีเป็นผู้โทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 3 รับสมอ้างเป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก จำเลยที่ 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 4 เบิกความตอบศาลยอมรับว่า จำเลยที่ 4 อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นด้วย โดยนางอรุณีโทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 4 บอกว่า น้ำท่วมมากจะต้องจัดหาผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก จำเลยที่ 4 จึงให้นางอรุณีคุยโทรศัพท์กับจำเลยที่ 3 และเบิกความตอบโจทก์ขออนุญาตศาลถามว่า หลังจากนายชื่นได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ให้ไปชี้แจงข้อกล่าวหา นายชื่นนำเอกสารดังกล่าวไปหาจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 จึงพานายชื่นไปพบนายวิเชียร ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 4 รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 และรับรู้ในเรื่องที่จำเลยที่ 3 รับสมอ้างเป็นผู้รับจ้างปิดกั้นคลองบางแพรก ทั้งที่ไม่มีการจัดจ้างจริง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา ครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ตามรายงานการประชุม รับเงินที่ได้มาจากการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาอันเป็นความเท็จสืบต่อมาจากจำเลยที่ 3 จึงบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดด้วย ที่จำเลยที่ 4 อ้างว่า จำเลยที่ 4 มีเจตนานำเงินที่ได้มาโดยมิชอบดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ราษฎรหมู่ที่ 11 ที่มาช่วยกันปิดกั้นคลองบางแพรก ค่าซื้อทราย ค่าซื้อเสาเข็ม และค่าจ้างรถแบ็กโฮ นั้น จำเลยที่ 4 คงมีแต่นายห่วง ซึ่งเป็นญาติกับจำเลยที่ 4 เป็นพยานให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. ว่า พยานได้รับเงินจากจำเลยที่ 4 จำนวน 5,000 บาท และนายสนั่น ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ประกอบกิจการค้าขายทราย เป็นพยานเบิกความในชั้นพิจารณาว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 4 สั่งซื้อทรายจากพยานหนึ่งหรือสองคันรถบรรทุกสิบล้อ กับว่าจ้างพวกของพยานให้นำรถแบ็กโฮไปกดเสาเข็ม โดยพยานคิดราคาค่าทราย 4,000 บาท ต่อหนึ่งคันรถบรรทุกสิบล้อ ส่วนพวกของพยานคิดค่าจ้างรถแบ็กโฮวันละประมาณ 10,000 บาท และจำเลยที่ 4 เป็นผู้จ่ายค่าซื้อทรายให้แก่พยาน แต่สำหรับการจ่ายค่าจ้างรถแบ็กโฮนั้น พยานไม่ทราบรายละเอียด ส่วนพยานปากอื่นที่จำเลยที่ 4 อ้างเป็นพยาน เช่น นายสัญญา นายสุรพล นายจรัญ และนายจรัล ต่างให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. ว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยนำเงินมาให้พยานเพื่อนำไปมอบให้แก่ราษฎรที่สำรองเงินค่าใช้จ่ายในการปิดกั้นคลองบางแพรก ทั้งนายชื่นเบิกความเป็นพยานโจทก์ในชั้นพิจารณายืนยันว่า พยานไม่ได้รับเงินค่าจ้างเฝ้าเครื่องสูบน้ำจากจำเลยที่ 4 แต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ 4 จึงมีน้ำหนักน้อย คดีรับฟังได้ตามทางไต่สวนว่า จำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา มิใช่เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณโดยตรง จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 หรือไม่ เห็นว่า ตามทางไต่สวนได้ความว่า ในการปิดกั้นคลองบางแพรกนั้น ที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนามอบหมายให้สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการ และสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปมีหน้าที่ในขั้นตอนการจัดทำและรับรองเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 คงมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณตามที่สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาเสนอมาเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารโดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้างและเบิกจ่ายเงินงบประมาณในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 โดยภาระดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ต้องบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาด้วยความโปร่งใสและไม่ผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่จำเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบอนุมัติการจัดจ้างและเบิกเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าจ้างปิดกั้นคลองบางแพรกให้แก่จำเลยที่ 3 ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่มีการจัดจ้างจริง เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปในการจัดจ้างอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) จำเลยที่ 3 จึงยังคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 48 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 กับฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 และศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสี่เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพความผิด กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาอีกต่อไป
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นการส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนาได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินงบประมาณไปในการจัดจ้างอันเป็นความเท็จ มีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐที่ได้มาจากการเสียภาษีอากรของประชาชนเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 3 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยที่ 3 ได้วางเงินต่อศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเหมาะสมแก่สภาพความผิดแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 162 (1) (4) (เดิม) จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม), 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ปี ลดโทษให้จำเลยทั้งสี่คนละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี 3 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์