โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 149,116,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 98,183,750 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระต้นเงิน 98,183,750 บาท แก่โจทก์ แทนจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกนาย ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ 100,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่นาย ศ. ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการโจทก์ ดังนั้นหากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี จำเลยทั้งสองอาจฟ้องนาย ศ. เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนได้ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความและยกคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความและพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2550 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ปัจจุบันมีนางสาวขวัญศิรินทร์ บุตรสาวของจำเลยร่วม และพันตำรวจเอกอภิเชษฐ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 100,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อปี กำหนดเวลาชำระต้นเงินและดอกเบี้ยภายใน 36 เดือน นับแต่วันทำสัญญา โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วนให้แก่โจทก์ เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้เงินแล้ว คงเหลือต้นเงิน 98,183,750 บาท วันที่ 17 กันยายน 2557 นางสาวสุรียส กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ศ. บุตรสาวจำเลยทั้งสองโอนเงินจำนวน 100,000,000 บาท จากบัญชีธนาคาร ก. ของบริษัท ศ. ดังกล่าว เข้าบัญชีธนาคาร ส. สาขาสำนักพหลโยธินของจำเลยร่วม คดีสำหรับจำเลยร่วมไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่ากรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองนำสืบการชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองนำสืบการใช้หนี้เงินกู้ตามฟ้องโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมด้วยพยานบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคและเป็นกรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ดังนี้ การฟ้องคดีและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจจึงอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 10 โดยในวรรคสามบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภคและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งสองเป็นผู้บริโภคจึงนำสืบพยานบุคคลถึงนิติกรรมการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์โดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมได้ โดยไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ก) ที่ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยร่วมมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจหรือตัวแทนเชิดของโจทก์ จึงไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ การที่นางสาวสุรียส บุตรสาวของจำเลยทั้งสองโอนเงิน 100,000,000 บาท จากบัญชีธนาคารของบริษัท ศ.เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมเป็นการโอนผ่านบัญชีของจำเลยร่วมเพื่อคืนให้แก่บริษัท ท. และบริษัท ฮ. มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องแก่โจทก์ เห็นว่า ที่มาของเงินจำนวน 100,000,000 บาทที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเงินชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าโรงเรียน 5 สาขา ที่บริษัท ศ. ซื้อจากบริษัท ท. และบริษัท ศ. ได้ชำระให้บริษัท ท. ไปแล้ว แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานบริษัท ศ. ได้มีหนังสือขอเบิกเงินจำนวน 100,000,000 บาท คืนจากบริษัท ท. บริษัท ท. ตกลงคืนให้โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คธนาคาร ก. จำนวน 40,000,000 บาท ที่เหลืออีก 60,000,000 บาท บริษัท ท. ได้ขอยืมจากบริษัท ฮ. โดยบริษัท ฮ. สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ส. จำนวนเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่บริษัท ศ. จากนั้นวันที่ 17 กันยายน 2557 หลังจากได้รับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว นางสาวสุรียส บุตรสาวของจำเลยทั้งสองและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ศ. โอนเงินจำนวน 100,000,000 บาท ดังกล่าว จากบัญชีธนาคารของบริษัท ศ. ไปยังบัญชีธนาคาร ส. สาขาสำนักพหลโยธินของจำเลยร่วม ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าการโอนเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์นั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อปฏิเสธความรับผิดจำเลยทั้งสองย่อมมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันตามข้อต่อสู้ดังกล่าว และพยานจำเลยปากนางสาวลำไพ พนักงานของจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนว่า ตนเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับพนักงานของโจทก์เพื่อขอหมายเลขบัญชีธนาคารของโจทก์ตามที่ได้รับแจ้งจากจำเลยร่วม ส่วนนางสาวสุรียสเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีธนาคารของบริษัท ศ.ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ไปยังบัญชีธนาคารของจำเลยร่วม นางสาวสุรียสจึงเป็นผู้รู้เห็นโดยตรงว่าการโอนเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้รายใด เป็นไปดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่นำนางสาวสุรียสมาเบิกความต่อศาล มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่ให้ทนายโจทก์มีโอกาสถามค้านเพื่อตีแผ่ความจริงต่อศาล จึงเป็นข้อพิรุธ กับเมื่อพิจารณาข้อความตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานบริษัท ศ. มีไปถึงจำเลยร่วมในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ท. ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องการขอเบิกเงินค่าโรงเรียนจำนวน 100,000,000 บาท คืนจากบริษัท ท. ก็เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงสถานศึกษาทั้ง 5 สาขา ที่บริษัท ศ. ซื้อจากบริษัท ท. โดยไม่มีข้อความระบุว่าจะนำเงินไปให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.6 และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบอธิบายว่าเหตุใดเอกสารหมาย จ.6 จึงระบุวัตถุประสงค์การขอเบิกเงินคืนไว้เช่นนั้น อันเป็นการแตกต่างจากข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองว่าต้องการนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ต้องปกปิดเหตุผลที่แท้จริงในการขอคืนเงินจากบริษัท ท. เพราะจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้รับชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ท. อยู่ด้วย โดยจำเลยร่วมเป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้อนุมัติให้คืนเงินดังกล่าวแก่บริษัท ศ. อันเป็นการแสดงถึงการรับรู้ของจำเลยร่วมถึงการดำเนินการดังกล่าวมาโดยตลอด ที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า มีการตกลงยกเลิกการโอนขายโรงเรียนจำนวน 4 แห่ง ให้แก่บริษัท ศ. เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ต้องการเงิน 100,000,000 บาท คืนจากบริษัท ท. เพื่อนำไปชำระหนี้แก่โจทก์นั้นเป็นข้ออ้างที่ขัดแย้งกับข้อความในเอกสารหมาย จ.6 ที่ระบุว่าบริษัท ศ. ต้องการเงินเพื่อนำไปปรับปรุงสถานศึกษาทั้ง 5 สาขาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้เกี่ยวกับจำนวนเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านำชำระแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวน 100,000,000 บาท ก็ไม่สอดคล้องกับจำนวนเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าค้างชำระแก่โจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 อ้างว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่โจทก์ไปแล้วบางส่วน ไม่มีการคิดดอกเบี้ยกันอีก เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์เฉพาะเงินต้นจำนวน 98,183,750 บาท เท่านั้น แต่จำเลยทั้งสองกลับนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ไป 100,000,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าค้างชำระเป็นเงินเกือบ 1,200,000 บาท โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ จากฝ่ายจำเลยทั้งสองว่า เหตุใดจึงมีการชำระหนี้เกินจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าค้างชำระกันจริง ดังนี้ ข้อที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเงินจำนวน 100,000,000 บาท ที่นางสาวสุรียศโอนจากบัญชีธนาคารของบริษัท ศ. ไปยังบัญชีธนาคาร ส. สาขาสำนักพหลโยธินของจำเลยร่วมเป็นการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์จึงไม่สมเหตุสมผลไม่น่าเชื่อถือ หากแต่สอดคล้องกับข้ออ้างของโจทก์ว่า การโอนเงินดังกล่าวเป็นการโอนผ่านบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมเพื่อคืนให้แก่บริษัท ท. และบริษัท ฮ. ทั้งนี้เพราะจำเลยร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของทั้งสองบริษัทดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งจำนวนเงินและข้อความตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายโรงเรียน 5 สาขา ระหว่างบริษัท ศ. และบริษัท ท. ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างถึงพฤติการณ์หลังจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 แล้วโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเวลานาน แสดงว่าโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่าลำพังพฤติการณ์ที่โจทก์มิได้เรียกร้องทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ก่อนฟ้องเป็นเวลาประมาณ 3 ปี ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องให้แก่โจทก์แล้ว หนี้เงินกู้ตามฟ้องจึงยังไม่ระงับ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้ที่ค้างตามสัญญากู้เงินตามฟ้องต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ในการรับชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องแทนโจทก์หรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ตามฟ้องเป็นเงินต้น 98,183,750 บาท สำหรับความรับผิดในดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วนให้แก่โจทก์แล้ว ไม่มีการคิดดอกเบี้ยกันอีก สอดคล้องกับงบการเงินของบริษัทโจทก์รอบปีบัญชี ปี 2555 ถึงปี 2559 ที่โจทก์แสดงต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ระบุว่าในรายการเงินให้กู้ระยะยาวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน โจทก์ซึ่งนำพยานเข้าสืบภายหลังมิได้นำสืบโต้แย้งว่ารายการหนี้เงินกู้ระยะยาวตามที่ปรากฏในสำเนางบการเงินปี 2555 ถึงปี 2559 ที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพยานเป็นหนี้รายอื่น มิใช่หนี้เงินกู้ตามฟ้อง หรือข้อความที่ระบุว่าไม่มีการคิดดอกเบี้ยนั้นไม่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ตามฟ้องหรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงเพราะเหตุใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าภายหลังจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วนแก่โจทก์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยต่อกันเรื่อยมาจนโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยรวม 149,116,570 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 98,183,750 บาท กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดในวันที่ครบกำหนดทวงถามคือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ส่วนความรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพียงใด ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับวันที่ 11 เมษายน 2564 โดยในมาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม และบัญญัติความขึ้นใหม่โดยมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ความใหม่บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และวรรคสองบัญญัติว่า "อัตราตามวรรคหนึ่งอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยปกติให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปีให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์" ส่วนมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ความใหม่บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ดังนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ตามบทบัญญัติใหม่ เปลี่ยนจากอัตราเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่ปรับเพิ่มหรือลดลงโดยพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยส่วนเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้บทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยที่ 1 อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยพิพากษาให้เป็นไปตามบทบัญญัติใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 สำหรับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน โจทก์มีคำขอเพียงว่ากรณีจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเฉพาะเงินต้น 98,183,750 บาท โดยไม่มีคำขอให้รับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดด้วย ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดเฉพาะเงินต้นจำนวนดังกล่าวตามคำขอของโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 98,183,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กรณีมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราใหม่บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเฉพาะต้นเงิน 98,183,750 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ